กรณีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติ หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ที่ขณะนี้(9 พ.ย.)อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น ก่อนนำเสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ครม.ต่อไปนั้น รักษาการคณบดี กล่าวระหว่างการเปิดงานว่า “ร่างกฎหมายดังกล่าวหากประกาศบังคับใช้จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งต่อเกษตรกรโดยตรงและความมั่นคงทางอาหารในอนาคต ปัจจุบันหน่วยงานที่นำเสนอร่างกฎหมายกำลังรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนจึงเป็นเรื่องที่ประชาชนจำเป็นต้องแสดงความคิดเห็นเพื่อกำหนดอนาคตของประเทศได้ต่อไป สำนักวิชานิติศาสตร์จึงได้จัดเสวนาขึ้นเพื่อเผยรายละเอียดและอภิปรายผลกระทบให้แก่ประชาชนทั่วไปได้ใช้เป็นข้อมูลต่อไป”
โดยในวงเสวนาได้มุ่งอธิบายถึงที่มาของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวที่มีการขยายความคุ้มครองพันธ์พืชในระดับที่อาจส่งผลกระทบต่อนักปรับปรุงสายพันธ์พืช เกษตรกรรายใหญ่ รายย่อย และโดยเฉพาะผู้บริโภค ในหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ต้องปรับราคาสูงจากต้นทุนการผลิตที่เป็นไปได้ว่าเกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่เพาะปลูกเพื่อการค้าทุกครั้งอาจไม่สามารถเก็บหรือเพาะเมล็ดพันธุ์เพื่อการเพาะปลูกในครั้งต่อไปหรือการนำผลิตผลทางการเกษตรนั้นแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ว่าสามารถทำได้อย่างไรบ้าง นอกจากนี้ยังได้ถกกันถึงประเด็นนิยามพันธ์พืชพื้นเมือง พืชป่า เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ใหม่นั้นพูดถึงความคุ้มครองที่มีต่อพันธ์พืชใหม่ ตลอดจนมีการปรับระยะเวลาคุ้มครองพันธุ์พืชกลุ่มต่างๆในระยะเวลาที่นานมากขึ้น
ทั้งนี้การเสวนาดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมหลากหลาย ทั้งนักศึกษา คณาจารย์ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร ที่แสดงความกังวลต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยระบุว่ามีความซับซ้อนยากที่จะทำความเข้าใจ และมีความกลัวต่อผลกระทบที่จะติดตามมาหลังการประกาศใช้ โดยในตอนท้ายของการเสวนามีการตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวว่ามีมากน้อยอย่างไรนั้น วงเสวนาตอบคำถามว่า “โอกาสมากน้อยที่จะประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ขึ้นอยู่กับพวกเรา หากอยู่เฉยก็มีโอกาสมาก ต้องแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ให้มี กระจายข้อมูลออกไปเป็นวงกว้างให้กับคนที่ไม่มีโอกาสได้มารับฟังวันนี้”