แรงงานเพื่อนบ้านหรือแรงงานข้ามชาติ เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและในประเทศไทย โดยในช่วงของการที่ COVID-19 ระบาดในระยะแรก ได้รับผลกระทบและคลี่คลายอย่างไร นายสืบสกุล กิจนุกร หัวหน้าศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เปิดเผยว่า แรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงราย ประสบปัญหาด้านที่ 1 คือเรื่องด้านเศรษฐกิจก็คือ ตกงาน เพราะมีการปิดกิจการล๊อคดาวน์เมือง หรือกิจการที่ยังเปิดอยู่ก็ถูกลดเวลาทำงาน อย่างวันเว้นวัน ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อรายได้ของแรงงานข้ามชาติที่หายไปหรือลดน้อยลง ก็มีปัญหาเรื่องข้าวปลาอาหาร มฟล.ให้ความช่วยเหลือโดยการแจกถุงยังชีพกับคนที่เดือดร้อน
.
ต่อมาปัญหาผลกระทบด้านที่ 2 เรื่องของสุขภาพ ในช่วงระบาดโควิดระลอกแรกพวกเขาเข้าไม่ถึงหน้ากากอนามัยหรือเจลล้างมือ หน่วยงานรัฐเน้นให้ความช่วยเหลือคนไทยเป็นลำดับแรก ในขณะที่ตัวแรงงานข้ามชาติอยู่อย่างหนาแน่นในพื้นที่หอพัก แคมป์ก่อสร้าง จึงให้ความช่วยเหลือโดยการจัดตั้งคณะทำงานดูแลด้านสุขภาพ ฝึกอบรมให้มีการตรวจวัดไข้สมาชิกทุกคนเป็นประจำทุกวันพร้อมกับการสอบถามอาการที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 เช่น อาการไอ มีไข้ ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว เป็นต้น ทำบันทึกเป็นทุกวันเพื่อรายงานว่ามีคนที่เสี่ยงที่จะติดโควิดหรือไม่
.
ด้านที่ 3 ให้พวกเขาสามารถเข้าถึงสิทธิแรงงานในช่วงโควิดระบาด ซึ่งตอนนั้นรัฐบาลมีนโยบายเรื่องการจ่ายเงินประกันว่างงานกรณีปิด COVID-19 ซึ่งแรงงานข้ามชาติที่มีประกันสังคมก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับการเยียวยา แต่ตอนนั้นมีปัญหาตรงการเข้าถึงข้อมูลซึ่งเป็นภาษาไทย แบบฟอร์มในการกรอกข้อมูลก็เป็นภาษาไทย ดังนั้นจึงได้ไปให้ความช่วยเหลือให้ความรู้ให้ข้อมูลในการไปใช้สิทธิ์ประกันสังคม
.
เมื่อ COVID-19 ระลอกแรกเริ่มคลี่คลาย จึงได้เน้นเรื่องการฝึกอบรมให้ความรู้กับคนงาน เนื่องจากเห็นว่าเป็นปัจจัยสำคัญ ถ้าคนงานมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก็จะทำให้เขาเข้าถึงสิทธิแรงงานมากขึ้น เช่น จัดฝึกอบรมเรื่องการจัดหางาน การเปลี่ยนนายจ้าง การแจ้งเข้าแจ้งออก เป็นเรื่องพื้นฐานที่แรงงานข้ามชาติต้องเจอ
.
นอกจากนี้ยังฝึกอบรมเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ถ้ามีปัญหากับนายจ้าง ค้างจ่ายค่าจ้างหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมในการจ้างงาน เขาจะไปร้องเรียนได้ที่ไหน รวมถึงเรื่องการใช้สิทธิประกันสังคม ถ้าต้องการใช้สิทธิ์ต้องแจ้งที่ไหนติดต่ออย่างไร
.
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ อยู่ในสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มีบทบาท อย่างแรกคือทำงานวิจัยในอาณาบริเวณพรมแดนหรือพื้นที่ชายแดนเน้นในมิติเรื่องของปฏิสัมพันธ์ข้ามพรมแดน โดยเฉพาะด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ต่อมาคือสร้างพื้นที่ความรู้เกี่ยวกับพื้นที่ชายแดน อย่างการจัดเสวนาวิชาการทุก 3 เดือน และมีการจัดประชุมวิชาการระดับชาติประจำปี ด้านชายแดนศึกษาและการพัฒนาระหว่างประเทศ เพื่อให้นักวิชาการ นักศึกษา นักวิจัย ได้มีโอกาสนำเสนอความรู้ใหม่ๆ หรือประเด็นแลกเปลี่ยนความเห็นข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ชายแดน เนื่องจากมหาลัยแม่ฟ้าหลวงอยู่ในพื้นที่ชายแดน
.
บทบาทอีกประการคือการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทั้งภาควิชาการแล้วก็ภาคประชาสังคม ในแง่ภาควิชาการ เป็นองค์กรประสานงานของเครือข่ายมหาวิทยาลัยไทยด้านชายแดนศึกษา ส่วนภาคประชาสังคม ปัจจุบันดำเนินการ 2 เรื่องคือ ด้านที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบเกี่ยวกับการพัฒนาในแม่น้ำโขง และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในจังหวัดเชียงรายที่เป็นการเฉพาะ
.
ซีรีส์ #มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงพื้นที่แห่งการทำงานวิจัยและพัฒนา จัดทำโดยส่วนประชาสัมพันธ์ #มฟล
ตอนที่2 "เพื่อนบ้านเพื่อนกัน" บทบาทของมฟล. กับแรงงานข้ามชาติและสถานการณ์โควิด-19
.
facebook: MFUconnect
qrgo.page.link/xMS1c
.
youtube : MFU Connect
qrgo.page.link/U27CK