ส่วนพัฒนานักศึกษา-สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม นำนักศึกษาดูงานผลิตน้ำประปา มฟล. ยืนยันคุณภาพได้มาตรฐาน

หมวดหมู่ข่าว: SDG04 SDG06 SDG13 SDG15 ข่าวเด่น

     ส่วนพัฒนานักศึกษา ร่วมกับ สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มฟล. นำนักศึกษา จำนวน 80 คน เข้าศึกษาดูงานกระบวนการผลิตน้ำประปาของมหาวิทยาลัย เมื่อวันพุธที่ 10 มีนาคม 2564 นำโดย นายวีระชัย เจริญจิตติชัย หัวหน้าส่วนพัฒนานักศึกษา และ อาจารย์ ดร.วิวัฒน์ แก้วดวงเล็ก อาจารย์ประจำสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยมีวิทยากรจากฝ่ายโยธาและสิ่งแวดล้อม ส่วนอาคารสถานที่ มฟล. นำชมขั้นตอนการผลิต โดยเริ่มจากแหล่งน้ำดิบคือ อ่างเก็บน้ำมหาวิทยาลัย หรือที่นักศึกษาเรียกว่าเขื่อนหลังมอ นอกจากเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและชมวิวดอยแง่มแล้ว ยังเป็นแหล่งเก็บน้ำจากธรรมชาติที่มหาวิทยาลัยนำไปผลิตเป็นน้ำประปา และใช้ในการดูแลรดน้ำต้นไม้ภายในมหาวิทยาลัย จากนั้นเข้าเยี่ยมชมโรงผลิตน้ำประปามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อดูขั้นตอนต่างๆ ในการเปลี่ยนน้ำดิบเป็นน้ำสะอาดได้มาตรฐานเพื่อส่งไปยังอาคารต่างๆ สำหรับใช้ในการอุปโภคภายในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นหอพักนักศึกษา อาคารเรียน และอาคารสำนักงานต่างๆ

     นายวีระชัย เจริญจิตติชัย หัวหน้าส่วนพัฒนานักศึกษา กล่าวว่า การนำนักศึกษาเข้าศึกษาดูงานการผลิตน้ำประปามหาวิทยาลัยในครั้งนี้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในขั้นตอนการผลิตน้ำประปาที่นักศึกษาใช้อุปโภคในทุกวัน และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าน้ำประปามหาวิทยาลัยมีกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐาน ได้น้ำประปาที่มีคุณภาพและมีความสะอาดเพียงพอต่อการใช้อุปโภค รวมทั้งสร้างความตระหนักในการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และช่วยกันประหยัด เพราะสถานการณ์ปัจจุบันมีความแห้งแล้ง ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลดลงอย่างมาก ต่ำสุดในรอบ 20 ปี และหากไม่มีฝนตกเพิ่มเติม ก็จะทำให้มีน้ำประปาใช้ต่อไปอีกไม่กี่เดือนเท่านั้น ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะได้มีมาตรการและขอความร่วมมือในการใช้น้ำประปาอย่างเหมาะสมกับปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ต่อไป

    ด้าน ดารัสมิ์ ศรีบุรี วิศวกร ฝ่ายโยธาและสิ่งแวดล้อม ส่วนอาคารสถานที่ ทำหน้าที่เป็นวิทยากรบรรยาย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีแหล่งน้ำหลัก สำหรับผลิตน้ำประปาก็คืออ่างเก็บน้ำมหาวิทยาลัย มีความจุ 1.5 ล้าน ลูกบาศก์เมตร (คิว) รองรับน้ำฝนจากธรรมชาติ โดยปริมาณน้ำล่าสุด ถือว่าอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบกว่า 20 ปี นับแต่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง ฝนตกน้อย

      “ในปีที่ผ่านมา มีความต้องการใช้น้ำภายในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ปริมาณน้ำลดลงเข้าขั้นวิกฤติ ซึ่งปริมาณน้ำที่ใช้ในแต่ละวัน เฉลี่ย 1500 คิวต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นการใช้ในหอพักนักศึกษา เกินกว่าร้อยละ 50 ถ้าความต้องการใช้น้ำยังอยู่ในปริมาณนี้ต่อวัน น้ำในอ่างเก็บน้ำก็จะหมดภายในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ หากไม่มีฝนตกมาเติม ซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยต้องมีมาตรการเกี่ยวกับการใช้น้ำให้มีความเหมาะสม เช่น จำกัดการใช้น้ำต่อวัน และขอความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัด จึงอยากขอให้ทุกคนช่วยกันใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า”

     “ในส่วนของคุณภาพน้ำ เรามีการตรวจสอบเป็นรายไตรมาส หรือทุกการเปลี่ยนฤดู ปกติการผลิตน้ำประปา ต้องมีการใช้สารเคมีช่วยในการตกตะกอนหลังจากสูบน้ำดิบขึ้นมา ปริมาณสารเคมีที่ใช้ก็ขึ้นกับคุณภาพของน้ำดิบว่ามีความขุ่นหรือมีการปนเปื้อนมากน้อยเพียงใด เช่น หน้าแล้ง ปกติน้ำจะใส เพราะน้ำนิ่ง ตะกอนตกลงด้านล่าง แต่ในช่วงนี้แล้งมากกว่าปกติ ระดับน้ำต่ำมาก น้ำที่สูบขึ้นมาจะมีความขุ่นเพราะจุดที่สูบขึ้นมาอยู่ใกล้กับตะกอน สารเคมีที่ใช้ในการตกตะกอนก็จะเพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นสารที่ไม่ได้มีผลกระทบกับสุขภาพ ส่วนในหน้าฝน ฝนตกมาก มีการชะล้างหน้าดินลงมา ทำให้น้ำมีตะกอนมาก และขุ่นมาก เป็นปัจจัยในการใช้สารเคมีสารเคมีแต่ละช่วงจะไม่เท่ากัน ที่อ่างเก็บน้ำจะมีอาคารโรงสูบน้ำ ปั๊มน้ำจะสูบน้ำเพื่อส่งไปยังโรงผลิตน้ำประปา ผ่านการตกตะกอน ใช้สารเคมี การกรอง จนน้ำมีคุณภาพตามมาตรฐาน จึงจะส่งไปที่โรงเก็บน้ำเพื่อส่งตามท่อไปยังอาคารต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยเพื่อให้เราได้ใช้ต่อไป”  

  • 1766 ครั้ง
  • #ส่วนพัฒนานักศึกษา #สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ