เมื่อวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 2563 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ร่วม กรมพัฒนาที่ดิน จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ของทั้งสองหน่วยงานในการปฏิบัติร่วมกัน โดย รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี มฟล. กับ นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน และมีนายสถาพร ใจอารีย์ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน และ รศ. ดร.นันทนา คชเสนี รองอธิการบดี ร่วมลงนามเป็นพยาน ท่ามกลางคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายร่วมพิธี ที่ห้องดอยตุง ชั้น 2 อาคารวันชัย ศิริชนะ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
.
กรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีภารกิจที่สำคัญในด้านการพัฒนาที่ดินและการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยการกำหนดนโยบายวางแผนการใช้ที่ดิน และการบริหารจัดการดินและที่ดินให้มีศักยภาพในการผลิต อันเกิดจากการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มและลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตรได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานที่สำคัญในการผลิตและให้บริการชุดข้อมูลภูมิสารสนเทศพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ ภาพถ่ายออร์โธสีเชิงเลข หมุดหลักฐานแผนที่ ข้อมูลความสูงภูมิประเทศ แผนที่เขตป่าไม้ถาวร แผนที่ดิน และแผนที่สภาพการใช้ที่ดิน เพื่อให้บริการแก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป ซึ่งการลงนาม MOU ในครั้งนี้ ทางกรมพัฒนาที่ดินยินดีและพร้อมที่จะสนับสนุนให้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อสนับสนุนงานด้านวิชาการ งานวิจัย และเทคโนโลยี ตามกรอบความร่วมมือของบันทึกข้อตกลงต่อไป
.
ด้าน มฟล. เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ ก่อตั้งและดำเนินการมาเป็นเวลา 22 ปี มุ่งพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ผลิตบัณฑิตคุณภาพและเป็นที่พึ่งของสังคม มีบัณฑิตแล้วกว่า 26,000 คน ทำงานอยู่ในทุกภาคส่วนทั่วประเทศและต่างประเทศ มีงานวิจัยหลากหลาย มีเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการทั่วโลก กับสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีความสอดคล้องกับหลายส่วนกับทิศทางที่กรมพัฒนาที่ดินต้องการทั้งในส่วนของการให้บริการและงานวิจัย รวมทั้งเป็นส่วนที่จะส่งสเสริมและสนับสนุนกันต่อไป
.
สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาที่ดิน กับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี โดยกำหนดกรอบความร่วมมือทางวิชาการในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และศึกษาวิจัย ใน ประเด็นการศึกษาการปนเปื้อนสารก่อมลพิษทางดินที่ส่งผลต่อการบริการเชิงนิเวศ และการลดใช้สารเคมีในพื้นที่เกษตรกรรม การพัฒนานวัตกรรมและเทคนิคการวิเคราะห์ดินสำหรับเกษตรกรที่เหมาะสมกับทรัพยากรดินของประเทศไทย การบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้และชุมชน รวมถึงจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่สูงที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่งความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้เป็นการส่งเสริมองค์ความรู้ในด้านการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร ให้องค์กร สถาบันการศึกษา หน่วยงาน และประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและจัดการการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสมและยั่งยืน