.
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดยพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง เตรียมเผยแพร่หนังสือที่จัดทำขึ้น จากการประชุมวิชาการ ‘ออกจากศูนย์กลางล้านนา’ ครั้งที่ 2 DECENTRALIZING LANNA โดยหนังสือเล่มนี้ภาพรวมเป็นการพูดถึง ล้านนา ในหลากหลายบริบทไม่เฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์ และในมุมมองของจังหวัดพื้นที่ภาคเหนืออื่นๆ นอกเหนือไปจากจังหวัดเชียงใหม่ สร้างความเข้าใจใหม่ว่า เชียงใหม่ไม่เท่ากับล้านนา เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่สนใจด้านล้านนาศึกษา (Lanna Studies) ในมิติพื้นที่ภาคเหนือจังหวัดอื่นๆ นอกเหนือไปจากจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการศึกษา นำไปประยุกต์หรือต่อยอดทางการศึกษา และอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน
.
ทั้งนี้เนื้อหาของหนังสือดังกล่าวจากการประชุมวิชาการ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 ณ พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งเป็นการต่อยอดจากโครงการประชุมวิชาการ “Decentralizing Lanna Studies” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2561 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง โดยมีวัตถุประสงค์สร้างเครือข่ายวิชาการในภาคเหนือระหว่างสถาบันการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านล้านนา เพื่อสร้างภูมิทัศน์ใหม่ของการจัดการความรู้ที่อยู่นอกศูนย์กลางอย่างพื้นที่เชียงใหม่ และเพื่อเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับล้านนาที่กว้างขวางและเปิดประเด็นใหม่สู่สังคมสาธารณะ
.
เนื้อหาภายในหนังสือจากการถอดเทปคำต่อคำจากการเสวนาของวิทยากร 8 ท่าน เกี่ยวกับเรื่องราวของล้านนาที่ไม่ได้หมายความเฉพาะเชียงใหม่เท่านั้น เนื้อหาจะกล่าวถึงจังหวัดภาคเหนือตอนบนจังหวัดอื่นๆ ในบริบทต่างๆ เช่น โบราณคดีที่จังหวัดลำพูน พระไม้เมืองน่าน การวิเคราะห์วรรณกรรมที่เขียนถึงพรมแดนเชียงรายที่แม่สาย ตากเมืองลูกผสม ฯลฯ วิทยากรทั้ง 8 ท่าน ได้แก่
.
1. รองศาสตราจารย์ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
หัวข้อ: Recentralizing Lanna ล้านนากับการรวมศูนย์อำนาจซ้ำ
2. คุณยอดดนัย สุขเกษม นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
หัวข้อ: ผู้คนก่อนหริภุญไชย ข้อค้นพบใหม่จากร่องรอยโลหกรรมโบราณในพื้นที่จังหวัดลำพูน
3. อาจารย์พวงผกา ธรรมธิ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
หัวข้อ: อิตถีลักษณ์คติ: เรื่องของลับในปั๊บสา
4. อาจารย์ฉัตร์ณพัฒน์ ปัญญาเพชร สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
หัวข้อ: การลื่นไหลในอัตลักษณ์พระเจ้าไม้เมืองน่าน
5. อาจารย์นริศ ศรีสว่าง รักษาการหัวหน้างานโครงการจัดตั้งศูนย์ศิลปวัฒนธรรมล้านนา (ไต) มหาวิทยาลัยพะเยา
หัวข้อ: ข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีต่อการพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจท้องถิ่น จังหวัดพะเยา กรณีสถานที่กระทำสัตย์ปฏิญาณของสามกษัตริย์ ณ ริมฝั่งแม่น้ำอิง
6. อาจารย์นครินทร์ น้ำใจดี สำนักวิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
หัวข้อ: “ตาก” เมืองลูกผสม: พรมแดนวัฒนธรรมสยาม-ล้านนา
7. คุณณัฐพงศ์ ดวงแก้ว
หัวข้อ: ศาสนา 2 ห้อง: การเมืองเรื่องศาสนาหลังยุคครูบาศรีวิชัย
8. คุณสืบสกุล กิจนุกร ศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
หัวข้อ: “แม่สายสะอื้น” : เสียงสะอื้นของชาติในชีวิตประจำวันของผู้คนในอาณาบริเวณพรมแดนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
*** สอบถามข้อมูลเพิ่ม ติดต่อ พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มฟล. 0-5391-7067