ศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา วงศ์เกษมจิตต์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ H.E. Mr. Pirkka Tapiola เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย พร้อมภริยา ที่ได้เดินทางมาเยี่ยมมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและรับฟังสถานการณ์ชาและกาแฟของจังหวัดเชียงราย โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยาภรณ์ เชื่อมชัยตระกูล หัวหน้าสถาบันชาและกาแฟ และอาจารย์ ดร.อมร โอวาทวรกิจ หัวหน้ากลุ่มงานกาแฟ ได้สรุปบทบาทของมหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชาและกาแฟของประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563
.
ทั้งได้ย้อนถึงประวัติการจัดตั้งโครงการ “สถาบันชา”ได้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จากวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของ รองศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ศิริชนะ (อธิการบดีผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย) ได้มีดำริให้จัดตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนพืชชาซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดเชียงราย และเป็นอุตสาหกรรมหลักที่หล่อเลี้ยงและสร้างอาชีพให้แก่คนในพื้นที่ จนในปี พ.ศ. 2562 ได้ขยายภารกิจด้านกาแฟเพิ่มขึ้น มหาวิทยาลัยจึงได้ยกระดับหน่วยงานเป็น “สถาบันชาและกาแฟ แห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง” โดยมีภารกิจในการสนับสนุนงานวิจัยและการบริการวิชาการ รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมชาและกาแฟของไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสและขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการชาและกาแฟของไทย
.
สถาบันชาและกาแฟเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับชาและกาแฟ มีห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบชาและกาแฟที่มีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัย สำหรับวิเคราะห์ทดสอบสารสำคัญในชาและกาแฟแห่งเดียวของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมี Food Maker space ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบผลิตภัณฑ์ด้านชาและกาแฟ ที่สามารถนำไปต่อยอดและขยายผลในเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคต โดยพื้นที่ Food Maker Space ได้รับงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่จากเมืองนวัตกรรมส่วนอาหาร (Food Innopolis) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการให้นำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมไปใช้ในการพัฒนาต่อยอดและก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิผลในอนาคต
.
สถานการณ์การผลิตชาและกาแฟของไทยในปัจจุบัน จังหวัดเชียงรายถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่ปลูกชาและกาแฟมากที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกชาประมาณ 130,000 ไร่ (คิดเป็นพื้นที่ปลูกชาสายพันธุ์อัสสัมร้อยละ 87 พื้นที่ปลูกสายพันธุ์ชาจีนร้อยละ 13) มีผลผลิตใบชาสดจำนวน 110,000 ตัน พื้นที่ปลูกกาแฟในจังหวัดเชียงราย ประมาณ 98,00 ไร่ มีปริมาณผลผลิตประมาณ 4,700 ตัน ในปัจจุบันนี้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกชาอยู่ในอันดับที่ 5 ของกลุ่มประเทศอาเซียน (คิดตามมูลค่าการส่งออก) ประเทศไทยส่งออกชาไปมากที่สุดคือประเทศอินโดนีเซีย จีน สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันนี้ผลิตภัณฑ์ชาและกาแฟของไทยได้รับการยอมรับจากตลาดต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากผลิตภัณฑ์ชาและกาแฟของไทยมีคุณภาพที่ดีและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ชาและกาแฟของไทยยังได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานของสินค้า สร้างความเชื่อมั่นของแหล่งที่มาและคุณภาพของตัวสินค้าให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าของสินค้าในอนาคตต่อไป
.
ผลงานที่ผ่านมาของสถาบันชาและกาแฟ มีเป้าหมายที่มุ่งเน้นพัฒนา 2 ด้าน คือสังคมและเศรษฐกิจ มิติด้านสังคม ทางสถาบันฯ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ในการดำเนินโครงการ เพื่อการพัฒนาศักยภาพเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้แปรรูป เพื่อสร้างอาชีพ หรือเพิ่มพูนทักษะองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ที่จะมาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ชาหรือกาแฟให้มีคุณภาพดี และสามารถแข่งขันในระดับสากลได้ ซึ่งองค์ความรู้ต่างๆ ที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องสามารถทำให้เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้แปรรูป มีทักษะอาชีพที่ดีขึ้น สามารถสร้างอาชีพที่ยั่งยืน และช่วยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถลดความเหลื่อมล้ำของสังคมได้อีกด้วย
.
มิติด้านเศรษฐกิจ สถาบันชาและกาแฟ ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงราย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) รวมถึงภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมชาและกาแฟ ในการขับเคลื่อนนโยบาย “เชียงรายเมืองแห่งชาและกาแฟ” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 โดยมีการทำงานแบบบูรณาการทุกภาคส่วนครอบคลุมทั้งห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ ซึ่งได้ร่วมมือกันทำงานทุกๆ ฝ่าย โดยมุ่งหวังผลักดันให้จังหวัดเชียงรายเป็น ศูนย์กลางทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวด้านชาและกาแฟของภูมิภาคอาเซียน จากการ จัดประชุมวิชาการนานาชาติร่วมกับงานแสดงสินค้า จำนวน 3 ครั้งที่ผ่านมา ทำให้เห็นได้ว่าสามารถสร้างความตระหนักและรับรู้ให้กับคนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และสามารถขยายเครือข่ายความร่วมมือในด้านต่างๆ อาทิเช่น ด้านองค์ความรู้ การจับคู่ธุรกิจ รวมถึงการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ซึ่งช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนเศรษฐกิจในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี