มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดย ศูนย์บริการวิชาการ จัด โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการชุมชนปลอดขยะ (ZERO Waste) ระหว่างวันที่ 23-25 มกราคม 2560 ให้แก่ตัวแทนองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) จากทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานจัดการขยะมูลฝอย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน อาสาสมัครชุมชน และผู้นำชุมชนด้านต่างๆ เพื่อถ่ายทอดและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการลดปริมาณขยะ และการนำเศษวัสดุประเภทต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ตามหลัก 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาชุมชนปลอดขยะตามมาตรฐานการประเมิน สำหรับการประกวดชุมชนปลอดขยะระดับประเทศ และเพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยยึดการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยมีทั้งการรับฟังการบรรยายในหัวข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะ ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และการเดินทางไปศึกษาดูงานชุมชนปลอดขยะต้นแบบ บ้านโป่งศรีนคร ต.โรงช้าง อ.ป่าแดด จังหวัดเชียงราย ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปปรับใช้ในชุมชนของตนเองได้อย่างเหมาะสม
โดยในวันที่ 23 มกราคม 2560 ผู้เข้าอบรม ได้ร่วมรับฟังการบรรยายในหัวข้อต่างๆ คือ “แนวคิดชุมชนปลอดขยะ” โดย ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มฟล., “ลดขยะ ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม” โดย ดร.พรรณนิภา ดอกไม้งาม อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มฟล., “อปท. กับการขับเคลื่อนชุมชนปลอดขยะ” โดย ดร.มงคลกร ศรีวิชัย อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (เชียงราย)
วันที่ 24 มกราคม 2560 ผู้เข้าร่วมอบรม ได้เดินทางไปศึกษาดูงานชุมชนต้นแบบ บ้านโป่งศรีนคร ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศชุมชนปลอดขยะ ประจำปี 2558 จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมี นายมานพ ชัยบัวคำ กำนันตำบลโรงช้าง เป็นผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ในการสร้างสรรค์ชุมชนปลอดขยะที่สามารถทำได้จริง ไม่ว่าจะเป็นการคัดแยกและใช้ประโยชน์ จากเศษวัสดุรีไซเคิลและเศษวัสดุอินทรีย์
และในวันที่ 25 มกราคม 2560 ผู้เข้าอบรมได้รับทราบมาตรฐานของชุมชนปลอดขยะ จากการบรรยายในหัวข้อ “การประกวดและเกณฑ์การประเมินชุมชนปลอดขยะ” โดย ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ รวมทั้ง “เทคนิคการเขียนรายงานและการนำเสนอ” โดย พัทยาพร อุ่นโรจน์ จากส่วนบริการงานวิจัย มฟล. จากนั้นเป็นการบรรยาย “การคัดเลือกชุมชนจากรายงานผลการดำเนินงาน” โดย ชฎาพร พร้อมพอชื่นบุญ จากมูลนิธิพร้อมใจพัฒนา ปิดท้ายด้วยการฝึกปฏิบัติการ “การวางแผนและนำเสนอรูปแบบการจัดการชุมชนปลอดขยะ” ก่อนจะมีการมอบใบประกาศและถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก