มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดยโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง หน่วยงานที่ได้ศึกษาศิลปวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง เพื่อเป็นฐานข้อมูลจากการค้นคว้าวิจัย เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้า และกระตุ้นความคิด และการพัฒนาในลุ่มน้ำโขงตอนบน ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ โครงการได้ร่วมกับคุณกฤตดนัย สมบัติใหม่ ศิลปินและผู้เชี่ยวชาญด้านงานหัตถกรรมล้านนา ได้ดำเนินโครงการสำรวจงานหัตถกรรมล้านนาและลุ่มน้ำโขง ตั้งแต่ ธันวาคม 2559 – กันยายน 2560 ด้วยการลงพื้นที่สำรวจเพื่อเก็บข้อมูลและภาพถ่ายในพื้นที่ 3 อำเภอในจังหวัดเชียงราย ได้แก่ อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอแม่จัน และอำเภอแม่ฟ้าหลวง
โดยประเภทงานหัตถกรรมล้านนาที่พบคือ งานหัตถกรรมกระดาษ ได้แก่ ปราสาท โคม ตุง เครื่องสักการะ ดอกไม้จันทน์ การฉลุกระดาษ และงานลวดลายกระดาษ พบ 1 กลุ่มเกี่ยวกับสิ่งทอ (ทอตุง)
เครือข่ายทางด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ทางโครงการได้ลงพื้นที่ศึกษา มีจำนวน 7 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มผู้สูงอายุบ้านปางลาว อำเภอเมืองเชียงราย งานหัตถกรรมล้านนา: ตุงกระดาษ เครื่องสักการะล้านนา 2. กลุ่มผู้สูงอายุบ้านสันสลีหลวง อำเภอแม่จัน งานหัตถกรรมล้านนา: การฉลุกระดาษ ดอกไม้จันทน์ และเครื่องสักการะล้านนา 3. พระครูสมุห์พิชิต ภูริวัฒโณ งานหัตถกรรมล้านนา: ปราสาทล้านนา ตุงกระดาษ โคม และการฉลุล้านนา
4.. นายกฤตดนัย สมบัติใหม่ งานหัตถกรรมล้านนา: โคมล้านนา ตุงกระดาษล้านนา ลวดลายกระดาษ และการฉลุกระดาษ 5. กลุ่มผู้สูงอายุวัดจันทราราม อำเภอแม่จัน งานหัตถกรรมล้านนา: การตัดกระดาษปราสาทธรรมาสน์ 6. กลุ่มผู้สูงอายุบ้านหนองอ้อ อำเภอแม่จัน งานหัตถกรรมล้านนา: กลุ่มทอตุง 7. กลุ่มผู้สูงอายุบ้านห้วยน้ำขุ่น อำเภอแม่ฟ้าหลวง งานหัตถกรรมล้านนา: ตุงกระดาษและงานตัดกระดาษ
และโครงการสำรวจพบข้อสังเกตเกี่ยวกับงานหัตถกรรมล้านนาซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาอันทรงคุณค่า แต่ผู้สืบสานภูมิปัญญาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุและพระสงฆ์ ซึ่งโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ฯ ตระหนักถึงความสำคัญและต้องการขยายภูมิปัญญางานหัตถกรรมล้านนาไปในวงกว้าง ดังนั้นจึงนำมาจัดกิจกรรมพิพิธภัณฑ์เสวนาและนิทรรศการหมุนเวียน เรื่อง “งานหัตถกรรมล้านนา กับภูมิปัญญาศิลป์บนแผ่นกระดาษ” นอกจากเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับงานหัตถกรรมกระดาษแล้ว ยังเสนอรูปแบบงานกระดาษที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกิจกรรมตามยุคสมัย เพื่อให้ภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าคงอยู่ต่อไป
ผู้เข้าเยี่ยมชมจะพบกับงานหัตถกรรมกระดาษแบบล้านนาในรูปแบบต่างๆ อย่าง ‘ตุงช่อคางช้าง’ ตุงกระดาษที่แขวนไว้แล้วทอดตัวยาวเหยียดปลายชี้ลงพื้น มองด้วยจิตนาการเห็นส่วนบนสุดของตุงเป็นหัวช้าง มีการตัดแต่งให้ปลายเรียวแหลมมองดูคล้ายเป็นงวงช้าง มีบางส่วนที่ได้รับการตัดแยกออกมาเป็นงาช้าง
บางชิ้นงานที่ผู้จัดงานเลือกหัตถกรรมกระดาษแบบดั้งเดิม ทว่าสามารถประยุกต์ใช้เป็นงานศิลปะเพื่อประดับตกแต่งได้อย่างร่วมสมัย อย่างการตัดกระดาษด้วยลาย ‘บูรณฆฎะ’ ที่หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ ความเจริญงอกงาม ซึ่งเป็นลวดลายดั้งเดิมที่นำมาจากลายจิตรกรรมหรือปูนปั้นตามวัดและโบราณสถาน สามารถตัดแต่งเพื่อประดับโคมหรือม่านกระดาษได้ด้วยเช่นกัน
และยังมีหัตถกรรมกระดาษที่มีคุณค่าและความงดงามอีกหลากกลาย โดยนิทรรศการ ‘งานหัตถกรรมล้านนา กับภูมิปัญญาศิลป์บนแผ่นกระดาษ’ จัดแสดงที่ห้องนิทรรศการหมุนเวียนพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง อาคาร D2 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 21 กันยายน 2560 ไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 31 ธันวาคม 2560 สำหรับวันหยุดราชการ กรุณาแจ้งล่วงหน้า ที่โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง 0-53917067-8