มฟล. จัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19 ผ่านไป 1 เดือน เป็นไปด้วยดี อาจารย์เลือกใช้โปรแกรมตามความถนัด คงหัวใจในการเรียนการสอนได้แบบในชั้นเรียน แต่ดูเหมือนจะคิดถึงลูกศิษย์แล้ว
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ปรับรูปแบบการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์ไปเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 และลดความเสี่ยงในการสัมผัสโรค รวมถึงหลีกเลี่ยงปัญหาหมอกควันเกินมาตรฐานที่อาจกระทบสุขภาพ ทั้งนี้เมื่อได้สำรวจว่าคณาจารย์ใช้โปรแกรมอะไรกันบ้าง เพื่อจัดการการเรียนการสอนกับนักศึกษา ซึ่งพบว่าต่างใช้กันหลากหลายทั้งตามความถนัดและความเหมาะสมไม่ว่าจะเป็นขนาดชั้นเรียนซึ่งหมายถึงจำนวนนักศึกษาหรือเทคนิคที่มีความแตกต่างกันไปของแต่ละโปรแกรม พร้อมปัญหาและทางออกที่เลือกใช้
.
อาทิ ดร.พฤทธิ์ พุฒจร ผู้ช่วยอธิการบดี และอาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สอนวิชาการสร้างสื่อปฏิสัมพันธ์ (Interactive Design) เป็นวิชาชีพเลือกของนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดียและการสร้างภาพเคลื่อนไหว สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 จำนวน 23 คน สอนทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติ เกี่ยวกับการออกแบบสื่อมัลติมีเดีย สมัยใหม่ เนื่องจากคลาสออนไลน์ที่สอนมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก และน.ศ.มีพื้นฐานด้านไอทีอยู่พอสมควร จึงใช้โปรแกรม Zoom Meeting
.
ที่มีจุดเด่นในการใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน แต่อาจจะมีข้อจำกัดว่าช่วงเวลาการสอนหนึ่งช่วงได้ไม่เกิน 40 นาที อาจารย์จึงให้น.ศ.พักเบรก ห้านาทีแล้วกลับมาเรียนกันต่อในห้วงต่อไป การสอนแบบ Live อาจจะมีปัญหาเรื่องความเสถียรของสัญญาณอินเทอร์เน็ต แก้ปัญหาโดยการปิดกล้องและไมโครโฟนของผู้เรียนก่อนในช่วงที่เราสอน หรือถ่ายทอดเฉพาะเสียงของเราออกไปอย่างเดียวครับ อีกวิธีคือการบันทึกคลิปไว้ก่อนแล้วอัปโหลดไว้ใน Google Classroom ให้ผู้เรียนโหลดชมได้เป็นบทๆในภายหลัง
.
ส่วนอาจารย์ปฐมพงศ์ มโนหาญ อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม โดยรับผิดชอบสอนแบบ 100% ใน 2 วิชา คือวิชา Democracy and Development และ วิชา Economics of Multinational Corporation อย่างวิชาแรกมีนักศึกษาประมาณ 40 คน และ วิชาที่สองมีนักศึกษาไม่มากนัก และอาจารย์เลือกใช้โปรแกรม Streamlabs OBS ซึ่งเป็นโปรแกรมที่บรรดาพวกเกมส์เมอร์ใช้กันตอน live ระหว่างเล่นเกมส์ โดยอาจารย์ได้แชร์ผ่าน facebook แบบกลุ่มปิด โปรแกรมนี้ออกแบบมาเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้ชมคราวละมากๆ
.
ข้อดีคือภาพชัด เสียงใส แต่มีปัญหาหากคอมพิวเตอร์ไม่แรงพอ หรือ อินเตอร์เน็ตอ่อนก็จะทำให้กระตุก ภาพค้าง เสียงขาดๆ หายๆ ข้อดีอีกอย่างหนึ่งในการ live ผ่าน facebook คือสามารถบันทึกวีดีโออัตโนมัติทำให้นักศึกษาที่ไม่สะดวกในช่วงเวลาดังกล่าวเข้ามาดูย้อนหลังได้ แต่อาจารย์ให้เวลาระยะหนึ่งก่อนที่จะลบคลิป
.
ส่วนวิชาที่มีจำนวนนักศึกษาไม่มากอาจารย์ใช้แอปฯ Google Hangouts ข้อดีคือสามารถเห็นหน้านักศึกษาทุกคนที่เข้ามา (ในกรณีที่คอมพิวเตอร์ของนักศึกษามีกล้อง) ปัญหาของแอพฯ นี้คือไม่แจ้งเตือนว่าเรากำลัง live ต้องเข้าอีเมลก่อนถึงจะเห็น สำหรับตนเองแล้วแอพฯ นี้ไม่เหมาะกับการสอนในชั้นเรียนที่นักศึกษาจำนวนมาก เนื่องจากเวลาใครคนหนึ่งพูดวีดีโอของคนพูดก็จะเด้งขึ้นมา ต้องมีการกำหนดคิวในการพูด แต่เหมาะมากสำหรับวิชาที่มีการพูดคุยสนทนา หรือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
.
ด้านอาจารย์เพชรณพัฒน์ ศรีวุทธิยประภา อาจารย์ประจำสำนักวิชานิติศาสตร์ สอนวิชาระบบศาลและพระธรรมนูญศาลยุติธรรม เลือกใช้การถ่ายทอดผ่าน Facebook Live ในกลุ่ม Phetnapat's law school ในการสอนออนไลน์ช่วงนี้ เนื่องจากในการสอนปกติ ในกรณีที่อยากสอนประเด็นรายละเอียดเพิ่มเติมจากในชั้นเรียน จะทำการ live เสมอ นักศึกษาจึงค่อนข้างชินกับการ live สอนในครั้งนี้ โดยมีนศ.เข้าร่วมฟังเกิน 95% ส่วนที่เหลือสามารถเข้าชมย้อนหลังได้ในกลุ่ม ทั้งนี้ตอนนี้นักศึกษากระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่โดยส่วนมากยังอาศัยอยู่ในพื้นที่เชียงราย (ขณะนี้อาจเดินทางกลับบ้านแล้ว) สอบถามแล้วทราบว่าระบบค่อนข้างดี นักศึกษาได้ยินภาพและเสียงชัด
.
โดยรวมอาจารย์มีความเห็นว่านักศึกษาปรับตัวสำหรับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ได้ดี อย่างที่ ดร.พฤทธิ์ ว่า ส่วนใหญ่คุ้นเคยกับอุปกรณ์หรือซอฟแวร์ต่างๆ อยู่แล้ว และแม้จะกระจายกันกลับบ้านตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศก็สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนได้ โดยบางส่วนเข้าถึงด้วยมือถือสมาร์ทโฟน บางคนใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัว รวมถึงบางส่วนใช้แท็บเล็ต เพียงแต่นักศึกษาต้องมีระเบียบวินัยให้ตนเองมากขึ้นนและต้องเรียนด้วยตนเอง และต้องแบ่งเวลาโดยไม่มีสภาพแวดล้อมของห้องเรียนแบบเดิม
.
ทั้งนี้หัวใจของการเรียนการสอนยังคงเป็นเหมือนในชั้นเรียน คือ มีผู้สอน มีสื่อการสอน และมีผู้เรียน มีการโต้ตอบผ่านกล่องข้อความ โดยการเรียนการสอนแบบออนไลน์นี้ยิ่งทำให้ผู้สอนต้องทำการบ้านอย่างหนักในการเตรียมเนื้อหาและการนำเสนอเนื้อหาของแต่ละบทเรียน และบางครั้งมักจะเกิดประเด็นใหม่ขึ้นจากการตอบโต้กันในชั้นเรียนทำให้ได้มุมมองใหม่หรือหลากหลายมากขึ้น แต่ค่อนข้างเกิดขึ้นยากในการเรียนการสอนออนไลน์ในตอนนี้
.
การรับส่งเนื้อหาถึงกันของแต่ละบทเรียนผ่านระบบดิจิทัลทุกวันนี้ค่อนข้างผ่านไปด้วยดี แต่มีบางอย่างผ่านไปค่อนข้างยาก
.
“ผมไม่ได้ยินเสียงหัวเราะ ไม่เห็นแววตานักศึกษาตอนที่เราพูดตรงประเด็น สอนออนไลน์อารมณ์จะเรียบๆ ซึ่งความเรียบๆ อาจทำให้ passion ค่อยๆ มอดไปเรื่อยๆ ผมไม่กล้าตอบแทนนักศึกษาว่าเขาไหวหรือไม่ไหว แต่ขอเดาว่านักศึกษาก็รู้สึกเช่นกัน จริงๆ แล้วอารมณ์ความรู้สึกแบบนี้มันถูกค้นพบมาตั้งแต่ยุค 80-90 แล้ว ที่ว่าห้องส่งสตูดิโอถึงต้องมีคนดูไว้คอยสร้างเสียงปรับมือ หัวเราะ และอารมณ์อื่นๆ เพื่อไม่ให้การสื่อสารมันแห้งแล้งเกินไป” อาจารย์ปฐมพงศ์ เล่า
.
สอดคล้องกับที่อาจารย์เพชรณพัฒน์ ตอบคำถามว่า อาจารย์กับนักศึกษายัง Happy อยู่ไหม? ว่า “ไม่มีใครรู้สึกมีความสุข เพราะความสุขของอาจารย์หรือครูคือการอยู่ในห้องสอน นี่คือที่ที่เป็นของเรานี่คือบ้านที่อบอุ่น ในวันหนึ่งที่มานั่งสอนคนเดียวผ่านจอความรู้สึกย่อมต่างออกไปและต้องปรับตัว ส่วนนักศึกษา ความสุขของเขาในตอนนั่งเรียนหน้าจอ อาจจะไม่มากเท่ากับตอนที่นั่งเรียนกับเพื่อนในชั้นเรียน มานั่งทานขนม นั่งเม้าอาจารย์ผู้สอน วันนี้ความรู้สึกนั้นอาจจะขาดไป”
.
เป็นกำลังใจให้ทุกคน