เว็บไซต์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์
หากคุณกด “Accept” หรือใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อ ถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้
ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว นโยบายการใช้คุกกี้
แอปพลิเคชันรายงานคุณภาพอากาศในปัจจุบัน มีให้เลือกโหลดได้มากมาย แต่ยังไม่มีแอปฯ ตัวไหนที่สามารถสะท้อนการนำไปใช้เชิงป้องกันในชีวิตประจำวัน อาจารย์วิทยาศักดิ์ รุจิวรกุล อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ และผู้อำนวยการศูนย์บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า ควรต้องมีแอปพลิเคชันที่สะท้อนคุณภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ และการแสดงค่าที่เฉลี่ย และค่าปัจจุบัน เพื่อการวางแผนในการดูแลสุขภาพของผู้ใช้ได้อย่างถูกต้องแม่นยำและสอดคล้องกับชีวิตประจำวัน
.
อาจารย์วิทยาศักดิ์ สอนในสาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ สอนเกี่ยวกับ การออกแบบสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์ (Software Architecture) และการออกแบบสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ (Enterprise Architecture) และได้ร่วมงานในฐานะผู้แทนของมหาวิทยาลัยกับสมาคมยักษ์ขาว ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวกลางในการตรวจติดตามปัญหาฝุ่นควันของประเทศไทย โดยเริ่มต้นจากจังหวัดเชียงราย และเครือข่ายจังหวัดในภาคเหนือ พร้อมทั้งแจกจ่ายอุปกรณ์วัดค่าฝุ่น PM2.5 เพื่อแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ ในการเตรียมพร้อมรับมือ ตามหลักการธงสุขภาพ ที่เน้นการใช้ค่าสี ในการบอกถึงความอันตรายของฝุ่นในแต่ละช่วงเวลาของวัน ภายใต้สถานการณ์ฝุ่นควันพิษในอากาศ PM2.5 ซึ่งสมาคมฯ เกิดจากการรวมตัวของสถาบันการศึกษาในเชียงราย หน่วยงานภาคประชาชน และเอกชน
.
โครงการยักษ์ขาว ได้นำเครื่องวัดฝุ่นยักษ์ขาวไปติดตั้งในโรงเรียนทั่วจังหวัดเชียงรายเพื่อเก็บข้อมูลและนำไปแสดงผลเป็นรายงานคุณภาพอากาศ แบ่งการทำงานออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ก.ย. 62 พัฒนาเครื่องวัดฝุ่นยักษ์ขาว โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายในช่วง ต.ค. 62 ภาคสนาม และส่งมอบเครื่องวัดฝุ่นยักษ์ขาวจำนวน 50 ชุด และทดสอบภาคสนาม ในโรงเรียนกลุ่มนำ และธ.ค. 62 ได้เปิดตัว Mobile Application ยักษ์ขาว แอปฯ ยักษ์ขาว ซึ่งพัฒนาโดยทีมงานจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
.
เพื่อให้รายละเอียดเกี่ยวกับการพัฒนา แอปยักษ์ขาว ที่ตั้งใจคิดและสร้างเพื่อคนเชียงรายและประชาชนทั่วไปได้ใช้เป็นข้อมูลเพื่อดูแลสุขภาพตนเองในท่ามกลางปัญหาหมอกควัน โดย อาจารย์วิทยาศักดิ์ ได้กรุณาอธิบายแบบง่ายๆ
.
-แอปฯ ยักษ์ขาวแตกต่างจากแอปรายงานคุณภาพอากาศทั่วไปอย่างไรคะ?
ถ้าเทียบกับแอปที่คนใช้กันแพร่หลายตอนนี้ อย่าง AirVisual อาจจะเหมาะกับนักท่องเที่ยวที่ต้องการทราบว่าคุณภาพอากาศในแต่ละประเทศเป็นอย่างไร โดยแสดงผลด้วยค่า Air Quality Index (AQI) เป็นค่าเฉลี่ยสะสมใน 24 ชั่วโมง แต่สำหรับผู้ที่อาศัยในพื้นที่ต้องการรายละเอียดมากขึ้นเพื่อใช้ในเชิงป้องกัน ถ้าค่าฝุ่นขึ้นไป 200 แต่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 25 ถ้าเชื่อตัวเลขก็จะยังเห็นคนออกไปปั่นจักรยานออกกำลังกายอยู่ ทั้งๆที่ค่าฝุ่นอยู่ในขั้นวิกฤต
.
แต่สำหรับยักษ์ขาวเลือกใช้การแสดงค่าของ P.M. 2.5 โดยตรง ไม่แปลงไปเป็น AQI เนื่องจากอาจจะมีความแกว่งของค่า และเราวัดฉพาะค่า P.M. 1.0, P.M. 2.5, P.M.10, ความชื้น และอุณหภูมิ เนื่องจากปัญหาฝุ่นภาคเหนือจะเน้นไปที่ฝุ่นควันที่เกิดจากการเผาไหม้ ต่างจากการรายงานคุณภาพอากาศของแอปอื่นๆ ที่วัดค่าอื่นๆด้วย พร้อมกับเลือกแสดงผลเป็นค่าเฉลี่ยในหลายช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็น 24 ชั่วโมง 12 ชั่วโมง 6 ชั่วโมง 3 ชั่วโมงหรือ 1 ชั่วโมง รวมถึงค่าปัจจุบันเพื่อให้ผู้ใช้ได้เลือกใช้ค่าตามรูปแบบการดำเนินกิจกรรมที่ต้องการ “อย่างถ้าตอนนี้แนวโน้มค่าลดลง เดี๋ยวตอนเย็นๆ น่าจะออกไปออกกำลังกายกลางแจ้งได้ เป็นต้น”
.
นอกจากประชาชนใช้ดูเป็นข้อมูลเชิงป้องกันตนเองแล้ว ยักษ์ขาวยังมีทีมงานสนับสนุน ได้แก่หน่วยงานต่างๆ อย่างงานสาธารณสุข อย่างช่วงที่ผ่านมามีค่าฝุ่นในพื้นที่หนึ่งขึ้นสูงติดต่อกันหลายวัน สาธารณสุขก็กรุณาเข้าไปดูแลนำหน้ากากอนามัยไปให้โรงเรียน เป็นต้น
.
-อาจารย์นำสิ่งที่สอนมาใช้ในการพัฒนาแอปนี้อย่างไรคะ?
อย่างสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์ ต้องดูเรื่องโครงสร้างก่อน ถ้าเปรียบเทียบเป็นสายภาษาจะเขียนกวีหรือเรื่องสั้นก็ต้องแบ่งเป็นช่วงหรือบท ต้องวางภาพทั้งหมดให้ชัดก่อนแล้วค่อยมาเลือกวิธีการ จะเอาตัวไหนมาใช้กับอะไร ในวงการซอฟต์แวร์จะใช้คำว่า design pattern ถ้าเป็นสายภาษาก็คงเรียกว่าเขียนเป็นแนวคอมดี้หรือไซไฟ ในแง่สถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์ ก็ต้องเลือกรูปแบบก่อนว่าผู้ใช้จะนำไปใช้งานอย่างไร อย่างใช้ผ่านเว็บหรือมือถือ ใช้งานด้วยวิธีไหนแล้วจึงมาถึงการออกแบบรูปแบบข้างใน ระบบหน้าบ้าน-หลังบ้าน หรือการเชื่อมต่อหรือดึงข้อมูลอย่างไร เก็บข้อมูลอย่างไร เป็นต้น
.
แอปฯ ยักษ์ขาว ดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ IOS และ Android ทั้งยังมีเว็บไซต์ yakkaw.com วางสถาปัตยกรรมโดยใช้ Eco-System ให้มากที่สุด ใช้เงินลงทุนให้น้อยที่สุด อันไหนพอจะใช้ของฟรีได้เราก็เลือกใช้ เพื่อให้งานสามารถขึ้นพร้อมใช้งานได้ก่อน อารมณ์จะเหมือนการทำ Starup สถาปัตยกรรมคร่าวๆ ของยักษ์ขาว version 1.0 ช่วงแรกใช้ Google Sheet ในการเก็บข้อมูล Realtime Data จากตัว Sensors และส่วนเว็บใช้ Firebase Host ในการเก็บหน้าเว็บ ใช้ภาษาโปรแกรมที่ง่ายๆ ตั้งแต่ HTML5, CSS3, Java Script, JQuery ส่วนฝั่ง APls ใช้ Node.js + Express ฐานข้อมูลใช้ MySQL ส่วนฝั่ง Mobile ใช้ React Native เพราะสามารถขึ้นงานได้ไว ประกอบด้วยเคยขึ้นมาหลายแอปแล้ว มีโครงกับ component เดิมอยู่บ้างทำให้สามารถขึ้นแอปพร้อมกันทั้ง IOS และ Android ได้ในวันเดียว
.
-การพัฒนาตั้งแต่ไอเดียจนถึงดาวน์โหลดใช้งานได้จริงอาจารย์ใช้เวลามากน้อยอย่างไรคะ?
ประมาณ 2 เดือน ในการขึ้นตัวเว็บ yakkaw.com เนื่องจากต้องรอสถานีวัดฝุ่นขึ้นให้มีข้อมูลสำหรับนำมาใช้แสดงผล โดยช่วงแรกเป็นการแสดงข้อมูลบนแผนที่ก่อนก่อน แล้วจึงเปิดให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนทั้งระบบปฏิบัติการ IOS และ Android และรวบรวมปรับแต่งตามผลตอบรับและความคิดเห็นของทีมงานและผู้ใช้งาน ปรับไปเรื่อยๆ ตอนแรกรายงานคุณภาพอากาศทางเว็บก่อน เพื่อจะให้เห็นเรื่องจำนวนจุดต่างๆ ตรงนี้ก็มีประเด็นหลายอย่าง ตั้งแต่ตัวอุปกรณ์วัดฝุ่น ก็จะมีประเด็นกันอยู่เรื่อยๆ เรื่องการสอบเทียบมาตรฐานหรือการทำอย่างไรให้วัดค่าได้แม่นยำ และเรื่องของการติดตั้ง เช่น วาวี เชียงแสน แม่สาย เป็นต้น ตามแผนวางไว้ที่ 250 จุด ตอนนี้ได้ 50 จุด ด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณส่วนหนึ่ง เนื่องจากยักษ์ขาวเป็นแพลตฟอร์มสาธารณะก็ต้องหางบเข้ามาอุดหนุนตรงนี้แล้วทำต่อ แต่ช่วงนี้ที่ทำไม่ได้เพราะเซนเซอร์วัดฝุ่นหมด ส่วนใหญ่โรงงานผลิตอยู่ในจีนซึ่งช่วงก่อนจีนปิดประเทศด้วยปัญหา Covid-19 (อ่านเพิ่ม)
.
-มีนักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมไหมคะ?
ในระยะที่ 2 ได้เตรียมทีมนักศึกษามาช่วยร่วมพัฒนา เนื่องจากหลายจังหวัดสนใจ ตอนนี้ทำสเกลเล็ก ใช้เองในจังหวัดก่อนในเฟสแรก แสดงผลรายงานคุณภาพอากาศและบอกวิธีปฏิบัติตนอ้างอิงจากกรมอนามัย สำหรับเฟสสองรองรับเซ็นเซอร์อีกมหาศาลเพื่อขยายไปแต่ละจังหวัด โมเดลคือให้แต่ละคนดูแลบ้านหรือจังหวัดของตัวเอง ระบบจึงต้องง่ายพอที่จะให้เขาบริหารจัดการเองได้ จะมีระบบหลังบ้านให้ผู้ดูแลแต่ละจังหวัดสามารถดูแลด้วยตนเองได้ ส่วนอุปกรณ์เซ็นเซอร์วางแผนที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยี เรื่องของการสร้างและพัฒนา ควบคุมคุณภาพ ให้แต่ละจังหวัด ซึ่งจะมีกลุ่มจิตอาสาดูแลแต่ละพื้นที่ของตนเอง ทุกคนรักบ้านตัวเอง เวลาที่คนเชียงรายไปทำให้ลำปาง แพร่ อาจจะไม่อินเท่าไหร่ ไม่เหมือนคนในพื้นที่ทำเองมันเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่ง
.
-อาจารย์นำการทำงานโปรเจกต์ยักษ์ขาวกลับเข้ามาสู่การเรียนการสอนอย่างไรคะ?
ผมใช้สอนนักศึกษา คิดแบบง่ายๆก่อน อย่างโซลูชั่นทีทำอยู่มีทั้งแบบยากที่ใช้งบประมาณมหาศาล และแบบง่ายที่ใช้เงินลงทุนไม่มาก การที่คิดออกมาแล้วทำให้เป็น Product ได้ไว ซึ่งโปรเจกต์นี้ถือว่าไวมากบางระบบทำ 5-6 เดือนจึงจะใช้งานได้ ในทางโลกธุรกิจ เมื่อนับจากวันที่คิดเป็นไอเดียถึงวันที่ออกเป็น ผลิตภัณฑ์หรือบริการได้ต้องเร็ว ไม่อย่างนั้นไม่ทัน เรียกว่า Time-to-Market ต้องเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างของยักษ์ขาวนี้ต้องไปให้ทันฝุ่น เพราะฝุ่นมาแล้ว นี่เป็นส่วนหนึ่ง ในแง่ของสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์ก็นำไปใช้ในการสอน อย่างวิธีคิดตั้งแต่ต้นนำมาเล่าให้นักศึกษาฟัง ทำไมถึงเลือกวิธีนี้มีการถกกันด้วยว่าทำไมถึงเลือกแบบนี้ เป็นการกระตุ้นให้เกิดการคิด นำสภาพแวดล้อมและต้นทุนมาใช้ในการพิจารณา ในการเลือกวิธีที่เหมาะสมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์
.
-การทำงานชิ้นนี้ได้ขยายกรอบความรู้ของอาจารย์ไปอย่างไรบ้าง?
หลายอย่าง ตอนแรกตั้งใจทำเล็กๆ แต่พอทำแล้วเห็นโอกาสที่จะทำเป็นแพลตฟอร์มสาธารณะที่ใครก็ได้ที่จะนำไปใช้ กลุ่มคนที่เข้าไปทำงานร่วมด้วยมีส่วนเปิดโลกใหม่ให้กับผม คือปกติจะพยายามสร้างสมดุล ทำงานให้เอกชนด้วย ทำงานของตัวเองด้วย แต่สิ่งที่ขาดคืองาน charity คืองานที่ใช้คำว่า “จิตอาสา” เข้าไปทำ ได้เจอคนกลุ่มนี้ซึ่งเปิดโลกมาก (ปกติเจอแต่สายไอที) ไอทีจ๋าๆ ทำระบบซีเรียสกันไป แต่ถามว่าอันนี้ซีเรียสไหมก็ซีเรียสนะ แต่เราได้เจอกับกลุ่มคนที่สู้กับเรื่องนี้มานาน เราไม่รู้มาก่อนเลยว่าที่เราหายใจคล่องมีคนไปช่วยดับไฟให้ ไปควบคุมเพลิงให้ และยังมีเรื่องที่เขาต่อสู้กันว่าไอ้เครื่องวัดที่เป็นจุดๆ นี้ทำไมไม่เพิ่มให้เต็มประเทศเสียที ทำไมมันถึงขึ้นไม่ได้ เราก็อ๋อรู้แล้ว วิธีการจะทำให้มันมีเราก็พอรู้แล้วว่าจะทำอย่างไร
.
นอกจากแอปฯ ยักษ์ขาวสู้ฝุ่นแล้ว ยังมีผลงานอื่นที่จะตามมาในเร็วๆ นี้อีกหลายโครงการโดยเฉพาะที่เป็นโครงการสาธรณประโยชน์ โปรดติดตาม