ชาว มฟล. ให้กำลังใจฝ่าวิกฤติ โควิด-19 ปรับตัวเรียนผ่านระบบออนไลน์

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

     เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 (CIVID-19) รวมทั้งปัญหามลพิษฝุ่นควัน ทำให้สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ต้องหยุดทำการเรียนการสอนในห้องเรียน และต้องปรับเปลี่ยนเป็นระบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ก็เช่นเดียวกัน ที่ต้องปรับตัวทั้งคณาจารย์ นักศึกษา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงาน แม้ว่าจะไม่มีการเรียนการสอนในห้องเรียน แต่มหาวิทยาลัยก็ยังเปิดดำเนินการทุกภาคส่วนเช่นเดิม เพียงแต่ต้องปรับเปลี่ยนการทำงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยมี 4 หน่วยงานหลักในการสนับสนุนการเรียนการสอนแบบออนไลน์ คือ ศูนย์บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาวิชาการ หน่วยจัดการสารสนเทศ และส่วนประชาสัมพันธ์ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านอื่นๆ ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้แก่คณาจารย์ โดยเฉพาะหลายท่านที่ไม่เคยทำการเรียนการสอนแบบออนไลน์มาก่อน

    แม้ว่าจะเป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว แต่ก็นับเป็นโอกาสที่ทุกฝ่ายจะได้ก้าวไปสู่การใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอนที่หลายคนเคยทำนายไว้ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ การเรียนการสอนจะถูกพลิกโฉม โดยไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่แต่ในห้องเรียนที่เดียวกันอีกต่อไป ซึ่งได้เกิดขึ้นในตอนนี้แล้ว แต่หลายคนเชื่อว่าเราจะสามารถฝ่าวิกฤตินี้ไปได้ด้วยดี และถือโอกาสส่งกำลังใจให้แก่กันและกัน เพื่อก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน

    ดร.พนม วิญญายอง รองอธิการบดี กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดการอบรมการใช้งานแอปพลิเคชันสอนออนไลน์ ให้แก่อาจารย์จากสำนักวิชาและเจ้าหหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ว่า นอกจากการจัดอบรมครั้งนี้ซึ่งจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วม รวมทั้งให้รับชมผ่านการถ่ายทอดสด ยังได้จัดทีมงานและหน่วยงานช่วยสนับสนุนการเรียนการสอน รวมทั้งตอบคำถามเกี่ยวกับการใช้งานแอปพลิเคชันที่ทางมหาวิทยาลัยแนะนำให้ใช้ต่อไป

     “ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยทุกท่าน ทางมหาวิทยาลัยคาดหวังว่าทุกท่านจะสามารถนำความรู้จากการอบรมไปใช้ในการเรียนการสอนออนไลน์ รวมทั้งกับการทำงานได้ เป็นกำลังใจให้กันและกัน เราจะพยายามก้าวไปด้วยกัน เหตุการณ์ครั้งนี้อาจจะเปลี่ยนอนาคตของเรา ให้เราสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม และรับมือกับอนาคตที่ไม่แน่นอนได้อย่างดีมากขึ้น” ดร.พนม วิญญายอง รองอธิการบดี กล่าว

    ทางด้านนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 ภุมม์ญาณี จ่างจิต จากสำนักวิชาแพทยศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับนักศึกษาแล้วไม่ได้ปรับตัวมากนักสำหรับการเรียนออนไลน์ เพราะคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีติดขัดบ้างกับการพรีเซนต์งานและการส่งงานที่มีลักษณะแตกต่างกันในแต่ละรายวิชา

    “อยากเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังประสบปัญหา เชื่อว่าทุกคนพยายามปรับตัวกันอยู่ คงต้องร่วมมือร่วมแรงใจกันในทุกด้าน เชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ เชื่อว่าจะผ่านมันไปได้ด้วยดี” ภุมม์ญาณี กล่าว

     NAN HSENG MOON ชาวเมียนมา นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาภาษาอังกฤษ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ เธอบอกว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับตนเองมาก กับการปรับตัวในการเรียนครั้งนี้ ทั้งการใช้เทคโนโลยี เว็บไซต์ หรือเครื่องมือต่างๆ แต่สิ่งเหล่านี้คือเทรนด์ใหม่ของโลก แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องกะทันหันสำหรับการปรับเปลี่ยน แต่ก็นับเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้ทุกคนก้าวหน้าไปอีกขั้น

    "I want to encourage our friends who are doing online classes. I think, it is quite fun. We dont have to travel to classes because we can study any where. Maybe, it is more comfortable to be in our places to studysaid NAN HSENG MOON

     ด้าน ดร.พฤทธิ์ พุฒจร ผู้ช่วยอธิการบดี และอาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวว่า การเรียนการสอนออนไลน์เป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเนื่องด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ทุกมหาวิทยาลัยรวมทั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ต้องประกาศงดการเรียนการสอนในชั้นเรียน ปรับเปลี่ยนมาเป็นการเรียนแบบออนไลน์ทั้งหมด

     “อาจารย์หลายท่านที่ไม่เคยสอนออนไลน์มาก่อน อาจจะเป็นกังวลกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ได้แตกต่างจากการใช้แอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน หรือการใช้โซเชียลมีเดียที่เราใช้กันอยู่ แค่ลองเข้ามาศึกษา เข้ามาเรียนรู้ ซึ่งท่านอธิการบดีเองก็ได้ให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยสนับสนุนช่วยเหลือเกี่ยวกับการเรียนการสอนออนไลน์แก่อาจารย์ทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาวิชาการ หน่วยจัดการสารสนเทศ และส่วนประชาสัมพันธ์ ยินดีให้ความช่วยเหลือทุกท่าน และเราก็จะจับมือกันเดินฝ่าวิกฤติการสอนออนไลน์ครั้งนี้ไปด้วยกัน”

     อาจารย์ ดร.พฤทธิ์ พุฒจร ออกความเห็นว่า การเรียนแบบออนไลน์จะเป็นการเปิดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะนักศึกษาที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่มหาวิทยาลัยสามารถเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่ผู้คนที่อยู่ในที่ต่างๆ หรือแม้แต่ผู้ที่สนใจที่อยากจะเรียนกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สามารถเรียนได้จากทั่วโลกในอนาคต

      อาจารย์ ฤทธิชัย พิมปา จากสำนักวิชาการแพทย์บูรณาการ ก็เห็นตรงกันว่า สำหรับช่วงแรกอาจจะต้องเตรียมตัวมากเป็นพิเศษ ทั้งการเตรียมเนื้อหา และจัดเตรียมอุปกรณ์ รวมทั้งการนัดหมายเวลาและช่องทางการเรียนออนไลน์กับนักศึกษา

      “จากการสอนแบบถ่ายทอดสดครั้งแรก ได้รับเสียงตอบรับดีมาก เพราะว่าข้อดีของการไลฟ์สดก็คือนักศึกษาสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับอาจารย์ผู้สอนได้ดี แต่ก็อยู่กับการบริหารจัดการของอาจารย์ด้วย ว่าวางแผนจัดการเรียนการสอนได้เหมาะสมแค่ไหน ทั้งการสอน การมอบหมายงาน การทำแบบฝึกหัด และที่กำลังพิจารณากันอยู่ก็คือเรื่องของการสอบที่จะนำมาสู่แบบออนไลน์ต่อไป ค่อนข้างเห็นด้วยกับคำว่าในวิกฤตมีโอกาส เพราะว่าครั้งนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อาจารย์ได้ฝึกทักษะแบบออนไลน์ ได้ฝึกใช้เทคโนโลยีใหม่ที่จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นในอนาคต ถือว่าเป็นประโยชน์ ถือว่าเป็นเรื่องโชคดีที่เราได้ปรับเปลี่ยนทั้งหมดในตอนนี้แล้ว ถ้าทำได้ดีในอนาคตต่อไปก็นับเป็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของสำนักวิชาและมหาวิทยาลัยของเราด้วย”

    “อยากจะให้กำลังใจอาจารย์ทุกท่าน อาจจะเหนื่อยในช่วงแรกของการปรับตัว หากทำไปสักระยะหนึ่งเชื่อว่าทุกอย่างจะลงตัว และอยากให้อาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษาทุกท่าน ติดตามข่าวสารของมหาวิทยาลัยในทุกช่องทาง เพื่อจะได้อัพเดทและทันสถานการณ์ไปพร้อมกัน” อาจารย์ ฤทธิชัย พิมปา กล่าว

     ดร.ภัททิรา วิภวภิญโญ อาจารย์ประจำสำนักวิชาศิลปศาสตร์ ผู้สอนรายวิชาภาษาและวัฒนธรรไทยสำหรับชาวต่างประเทศ กล่าวว่าตนเองมีโอกาสได้เข้าร่วมการอบรมใช้แอปพลิเคชันสอนออนไลน์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีทั้งส่วนที่เคยใช้งานและไม่เคยใช้งานมาก่อน

     “นับเป็นช่วงที่คณาจารย์และนักศึกษาต้องปรับตัว ในเรื่องของการรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่ปกติ แต่ว่าเราจะต้องรับมือให้ทัน แม้ว่าหลายท่านอาจจะยังไม่คุ้นเคยเกี่ยวกับการใช้ระบบทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือว่าการสอนออนไลน์ ซึ่งตอนนี้มีแอปพลิเคชันหรือโปรแกรมต่างๆ เข้ามาให้เราเลือกมากมาย มีความเหมาะสมกับแต่ละรายวิชาแตกต่างกันไป จากที่ได้ทดลองสอนออนไลน์ไปแล้วนั้น นักศึกษาค่อนข้างตื่นเต้นกับการเรียนรูปแบบใหม่ แต่ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี อาจจะมีอุปสรรคในเรื่องของสัญญาณอินเตอร์เน็ตบ้าง เพราะแต่ละคนอยู่ต่างที่ต่างถิ่นกัน ในการใช้โปรแกรมหรือวิธีสอนออนไลน์แบบต่างๆ ก็เหมาะสมกับสภาพนักศึกษา หรือสภาพของแต่ละรายวิชาแตกต่างกัน เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันปรับตัวต่อไป”

    “ไม่กังวลมากนัก เพราะทางมหาวิทยาลัยก็ได้จัดหน่วยงานคอยช่วยเหลือในด้านต่างๆ ไม่ว่าเราจะสอนเราจะเจอปัญหายังไง ค่อนข้างมั่นใจว่ามีทีมคอยช่วยแก้ปัญหาได้ ทั้งตัวเรา ทั้งอาจารย์ ทั้งตัวนักศึกษา ต้องมาช่วยกัน มาช่วยทำให้การเรียนการสอนมันไม่สะดุด และมาร่วมกันพัฒนาให้การเรียนมันสนุกไปด้วยกัน เป็นกำลังใจให้ค่ะ” ดร.ภัททิรา วิภวภิญโญ กล่าว

     ผศ.อารยา อดุลตระกูล อาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ เล่าว่า อาจารย์ในสำนักวิชาต่างก็ต้องปรับตัวและช่วยกันเรียนรู้การสอนแบบออนไลน์ พอผ่านสัปดาห์แรกไปก็เริ่มคุ้นเคยกับการใช้อุปกรณ์ต่างๆ เชื่อว่าทุกคนต่างต้องทำหน้าที่ของตนเอง นักศึกษามีหน้าที่เรียน อาจารย์มีหน้าที่สอน ต่างต้องทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดในทุกสถานการณ์

     “ถือว่าเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หลายอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน ก็สนุกดีเหมือนกัน สอนออนไลน์ไม่ยากอย่างที่คิด มันก็แลดูทันสมัย ค่อยๆ เรียนรู้กันไป เชื่อว่าไม่ยากเกินไป ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกๆ คนนะคะ” ผศ.อารยา อดุลตระกูล กล่าวให้กำลังใจปิดท้าย

  • 2161 ครั้ง
  • #ศูนย์บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ #สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาวิชาการ #ส่วนประชาสัมพันธ์ #หน่วยจัดการสารสนเทศ0