ระหว่างวันที่ 8 – 11 มกราคม 2563 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาวิชาการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จัดโครงการ “ค่ายอาจารย์มืออาชีพ” ประจำปี 2563 เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และองค์ความรู้ด้านเทคนิคการสอนจากผู้เชี่ยวชาญ
ศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา วงศ์เกษมจิตต์ รองอธิการบดี มฟล. กล่าวเปิดโครงการว่า มฟล. มีนโยบายที่จะพัฒนาคุณภาพทางวิชาการ และการผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้มีความรอบรู้และเชี่ยวชาญสาชาวิชาที่ศึกษาเพื่อนำความรู้ไปพัฒนาสังคม และประเทศชาติ ดังนั้นคณาจารย์ของ มฟล. จะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและเป็นผู้ที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครูอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในยุดปัจจุบันที่ผู้เป็นอาจารย์จะต้องรู้บทบาทหน้าที่และประเมินตนเองในการเป็นอาจารย์มืออาชีพได้ จะต้องสามารถอธิบายกระบวนการออกแบบหลักสูตรและรายวิชาตามแนวทางการจัดการศึกษาแบบมุ่งเน้นผลลัพธ์ของผู้เรียน (OBE) รวมถึงสามารถสะท้อนคิดและให้ข้อมูลย้อนกลับต่อการออกแบบรายวิชาตามแนวทางการจัดการศึกษาแบบ OBE และให้อาจารย์สามารถวางแผนการพัฒนาเส้นทางอาชีพของตนเองได้
ด้าน อาจารย์ ดร.กอบัว ไชยศิวามงคล อาจารย์ประจำสาขาเคมีประยุกต์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มฟล. เปิดเผยว่า ได้เริ่มงานเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 เหตุผลที่เลือกมาสอนที่ มฟล. เพราะเห็นว่ารายวิชาที่ มฟล. ต้องการนั้นตรงกับความเชี่ยวชาญและเป็นมหาวิทยาลัยที่กำลังเติบโต มีความแตกต่าง มีจุดเด่นจึงรู้สึกว่าตนเองน่าจะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนานี้พร้อมกับได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองไปด้วย สิ่งที่กอบัวได้จากค่ายนี้มีมากมายหลายด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มิตรภาพที่เกิดขึ้นจากอาจารย์หลายๆ ท่านที่มาจากหลายสำนักวิชาการได้รู้จักเพื่อนใหม่นอกจากจะทำให้บรรยากาศการมาทำงานที่ มฟล.ไม่เงียบเหงาแล้ว ในเชิงการทำงานก็ช่วยทำให้เราสามารถสร้างเครือข่ายร่วมกันได้ในอนาคต มีประโยชน์มากๆ ในยุคของการทำงานที่เน้นการบูรณาการ สุดท้ายคือได้เรียนรู้บทบาทและหน้าที่ของอาจารย์ รวมถึงเรียนรู้กระบวนการออกแบบหลักสูตรและรายวิชาตามแนวทางการจัดการศึกษาแบบมุ่งเน้นผลลัพธ์ของผู้เรียน (OBE) ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเรียนมาก่อนแต่เป็นเรื่องที่สำคัญมากของการเรียนการสอนในปัจจุบัน
“สิ่งที่กอบัวคิดว่าจะนำไปประยุกต์ใช้อย่างแรกเลยคือการพัฒนาการสอนโดยต้องเน้นจากผลลัพธ์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งปัจจุบันการออกแบบวิชาเรียนไม่ใช่ว่าอยู่ที่ผู้สอนอยากสอนอะไรแต่ต้องคำนึงถึงว่าอยากให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อะไรมากกว่า จากนั้นจึงมาออกแบบรายวิชา, กระบวนการสอนและวัดผลว่าจะทำอย่างไรให้ได้ผลลัพธ์ของผู้เรียนตามที่วางแผนไว้ นอกจากนี้จากการอบรมในค่ายเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการที่เราได้ลองลงมือทำจริงหลังจากได้ฟังการบรรยาย ซึ่งพบว่าทำให้เราได้เข้าใจมากขึ้น ถึงแม้อาจจะไม่ได้เข้าใจถึง 100% ในทันที แต่ทำให้เห็นภาพมากกว่าการนั่งฟังบรรยายเพียงอย่างเดียว ในจุดนี้คิดว่าสามารถนำมาปรับใช้กับการสอนของเราได้ว่า เราควรเพิ่มกิจกรรมระหว่างบทเรียนเพื่อให้ผู้เรียนได้ประมวลเนื้อหาหลังจากได้ฟังบรรยาย ซึ่งผู้เรียนจะทราบได้ทันทีว่าไม่เข้าใจเนื้อหาตรงจุดไหนและสามารถถามและอภิปรายกับผู้สอนได้ภายในชั้นเรียนนั้นเลย” อาจารย์ ดร.กอบัว กล่าว