รายงานพิเศษ- นิติศาสตร์ มฟล. นำ นศ.เรียน ‘กฎหมายแม่น้ำระหว่างประเทศ’ ที่ท่าเรือเชียงแสน พร้อมฟังเสียงภาคประชาชนที่โฮงเฮียนฮักน้ำของ

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

เรื่อง/ภาพ : อาจารย์อริศรา เหล็กคำ

          สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จัดกิจกรรมนำนักศึกษาทัศนศึกษาที่โฮงเฮียนฮักน้ำของ อ.เชียงของ และท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน อ.เชียงแสน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายวิชากฎหมายแม่น้ำระหว่างประเทศ วิชาชีพเลือกสำหรับนักศึกษาสำนักวิชานิติศาสตร์ สำหรับปีการศึกษานี้ มีนักศึกษาทั้งสิ้น 37 คน การเรียนการสอนเกี่ยวกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับการบริหารจัดการแม่น้ำระหว่างประเทศ โดยมีการสอนหลักการและทฤษฎีการใช้น้ำในแม่น้ำระหว่างประเทศทั่วไป และการศึกษาถึงการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง โดยแม่น้ำโขงไหลผ่าน 6 ประเทศ ตั้งแต่จีน เมียนมาร์ ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ทั้งนี้กลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างมีความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 ที่วางหลักเกณฑ์การใช้น้ำในแม่น้ำโขงระหว่างรัฐสมาชิกไว้ โดยในชั้นเรียนนี้ได้หยิบยกกรณีศึกษาเรื่องการใช้น้ำในแม่น้ำโขงในการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในแม่น้ำสายหลักในประเทศลาวเพื่อขายไฟฟ้าให้กับกฟผ.ไทย โดยกิจกรรมทัศนศึกษาครั้งนี้ได้พานักศึกษาไปพบครูตี๋ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว เพื่อให้นักศึกษาทราบสถานการณ์จริงที่ชาวบ้านเป็นกังวลเกี่ยวกับการใช้น้ำในแม่น้ำโขง และการใช้สิทธิของชาวบ้านลุ่มแม่น้ำโขงแปดจังหวัดในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อเพิกถอนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างรัฐบาลไทยและลาวเพื่อยกเลิกการสร้างเขื่อน 

             ส่วนการไปทัศนศึกษาที่ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน อ.เชียงแสนนั้น เป็นเรื่องการใช้น้ำในแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ ซึ่งจีนต้องการเข้ามาผูกพันในความตกลงนี้เพื่อเดินเรือในแม่น้ำโขง โดยมีความตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง พ.ศ. 2543 เพื่อพัฒนาการขนส่งทางน้ำอันรองรับการท่องเที่ยวและการค้าใน 4 ประเทศสมาชิก จีน เมียนมาร์ ลาว และไทย เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินเรือพาณิชย์เพื่อขนส่งสินค้าและคนข้ามแดนของ 4 ชาติ ตั้งแต่ท่าเรือซีเหมา ของจีน ถึงท่าเรือหลวงพระบาง สปป.ลาว ซึ่งท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนเป็นหนึ่งในท่าเรือภายใต้ความตกลงที่ขนถ่ายสินค้าข้ามพรมแดน นักศึกษาได้เห็นการขนถ่ายสินค้าข้ามพรมแดนจริง  

               และมีประเด็นท้าทายตรงที่ภายใต้ความตกลงดังกล่าว รัฐสมาชิกจะต้องปรับปรุงร่องน้ำให้สามารถเดินเรือขนาด 500 ตันเวทได้ ซึ่งจะต้องมีการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงเพื่อให้เรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่สัญจรไปมาได้ แต่ชาวบ้านอำเภอเชียงของ (ครูตี๋ และเครือข่าย) คัดค้าน นักศึกษาได้รับฟังข้อกังวลของชาวบ้าน และสามารถประเมินได้ว่าการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงจำเป็นหรือไม่กับประเทศไทย เมื่อพิจารณาจากขนาดเรือขนส่งสินค้าของไทย ปริมาณสินค้านำเข้า-ส่งออกของไทย และประเด็นเรื่องการสร้างเขื่อนปิดกั้นแม่น้ำ ที่ไม่ได้ทำทางให้เรือขนาด 500 ตันเวท ผ่านได้

 

  • 1610 ครั้ง