รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ พบพนักงานครั้งแรกหลังรับตำแหน่ง ‘อธิการบดี’ แจงสถานการณ์อุดมศึกษาปัจจุบันเป็นความท้าทายของทุกสถาบันการศึกษา เชิญชวนพนักงานให้มองเป็นโอกาส พัฒนา – ปรับตัว เพื่อเป็นที่พึ่งของสังคมต่อไป ยึด ‘วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง’ เป็นแนวทาง พร้อมประกาศพันธกิจ 5 ข้อ ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยฝ่าคลื่นความเปลี่ยนแปลง
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562 เวลา 15.00 น. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จัดกิจกรรม ‘อธิการบดีพบพนักงาน’ ณ ห้องประชุมสมเด็จย่า โดยมีผู้บริหาร คณาจารย์ พนักงาน เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 800 คน กิจกรรมเริ่มจาก รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี ได้กล่าวขอบคุณพนักงานที่ให้ความสำคัญเข้าร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียงกัน พร้อมได้แนะนำทีมผู้บริหารทั้งหมด 17 คน เป็นรองอธิการบดี 7 คน และผู้ช่วยอธิการบดี 10 คน
ทั้งยังได้ระบุถึงทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยต่อไป ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยจะมีอายุครบ 21 ปี ในวันที่ 25 กันยายนที่จะถึงนี้ ว่า มฟล.ยึด ปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการดำเนินงานและพัฒนามหาวิทยาลัยมาตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมาและสืบสานปณิธานนี้ต่อไป อีกทั้งยังยึดถือปณิธานของท่านอธิการบดีผู้ก่อตั้ง รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ เป็นแนวทางในการดำเนินงานและพัฒนามหาวิทยาลัยต่อไป
อธิการบดี ยังได้กล่าวต่อถึงความสำเร็จในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยที่เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจกันของผู้บริหาร คณาจารย์ และพนักงาน ที่สร้างให้ มฟล. เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในมิติต่างๆ จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยขอให้เป็นความภาคภูมิใจร่วมกันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับ 10 ของ UI Green matric University ranking และมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจาก 2 สำนักวิชาในวันเริ่มต้น เป็น 15 สำนักวิชาในปัจจุบัน และจำนวนผู้สำเร็จการศึกษารุ่นแรก 46 คน เป็น 26,500 คน ในปีล่าสุดนี้ ตลอดจนจำนวนบุคลากรจาก 80 เป็น 1,600 คนด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังมีนักศึกษาที่มาจากทั่วทุกภาคของประเทศไทยและเดินทางมาจากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ส่วนการพัฒนาด้านวิจัยและนวัตกรรม มีจำนวนโครงการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุน เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วง 5 ปีหลัง และในปีนี้ SCIMago ranking จัดให้เราอยู่ในอันดับที่ 9 ของประเทศไทย ที่ 700 ของโลก และด้านวิจัยอยู่ที่อันดับ 413 ของโลก ในส่วนของ QS Ranking เราอยู่ในอันดับที่ 401-450 ของ Asia และอยู่อันดับที่ 15 ของประเทศไทย
ต่อจากนั้น รศ.ดร.ชยาพร ยังได้เล่าถึงสถานการณ์ของอุดมศึกษาทั้งของไทยและทั่วโลก ที่ต่างอยู่ในความท้าทายจากความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลกปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น จำนวนผู้เข้าเรียนที่มีจำนวนลดลง เนื่องจากจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงตามลำดับ โดยมีสถิติที่น่าสนใจคือจำนวนที่นั่งเหลือในสถาบันอุดมศึกษาภายในประเทศ ในปี 2562 นี้ มีจำนวนที่นั่งว่างสูงถึง 36% หรือกว่าแสนที่นั่ง จากจำนวนรับ 322,930 คน จำนวนผู้เข้าศึกษา 205,912 คน จำนวนที่นั่งว่าง 117,018 ที่ แสดงให้เห็นว่า
จำนวนสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยอาจมีมากกว่าความต้องการในอนาคต
อธิการบดี ยังได้พูดถึง ปัจจัยของ Disruptive technologies ที่ส่งผลกระทบกับรูปแบบการเรียนการสอนแบบเดิม ที่อาจไม่ตอบโจทย์ผู้เรียนยุคใหม่ คอร์สเรียนออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากเข้าถึงง่าย สามารถเลือกเรียนเฉพาะสิ่งที่ต้องการและนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ ตลอดจนเทคโนโลยีที่อุบัติขึ้น เช่น AI, FIN Tech ทำให้เกิดอาชีพใหม่ๆ หลักสูตรที่มีอยู่เดิม อาจไม่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน หลักสูตรต้องมีความยืดหยุ่น ทันสมัย และสามารถปรับแต่งตามความต้องการของผู้เรียน
อีกทั้งสถานการณ์งบประมาณแผ่นดินเป็นตัวแปรที่มีความไม่แน่นอน หากมหาวิทยาลัยต้องการพึ่งพาตนเองให้ได้ในระยะยาว จำเป็นต้องขยายสัดส่วนของเงินรายได้ ซึ่งในส่วนนี้มหาวิทยาลัยมีกรอบการดำเนินงานไว้อยู่แล้ว เพียงต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจกันทั้งในส่วนการจัดหารายได้และใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างที่ได้ดำเนินการกันมาโดยตลอดต่อไป
รศ.ดร.ชยาพร กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ว่ากระทบทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และทุกมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษา ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกด้วยเช่นกัน ดังนั้นการพัฒนามหาวิทยาลัยต่อไปมีความยากและเป็นความท้าทายของพวกเราทุกคน ซึ่งในความท้าทายที่ทุกมหาวิทยาลัยกำลังเผชิญอยู่นั้น มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงไม่ได้มองว่าเป็นวิกฤติ แต่...
“หนทางข้างหน้าอาจไม่ง่าย และมีความท้าทายรอพวกเราอยู่ โลกเปลี่ยน สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน เราจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนตาม ใครตอบรับการเปลี่ยนแปลงได้เร็วกว่า ก็ได้เปรียบ อย่างไรก็ดีความท้าทายที่เกิดขึ้น มองดีๆ นั่นคือโอกาส ให้เราได้พัฒนาตัวเอง และอยู่รอดได้ แต่การเดินทางต่อไปนี้ เราต้องไปด้วยกันทั้งหมด เราเป็นครอบครัวเดียวกัน ร่วมแรงร่วมใจ”
อธิการบดี ยังได้กล่าวถึง แนวทางในการปรับตัว ส่วนหนึ่งคือการปรับการจัดการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการให้บริการ หลักสูตร หรือกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้สอดคล้องคล้องกับยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลง แต่มหาวิทยาลัยเห็นว่าสิ่งที่สำคัญคือการพัฒนาทักษะและความรู้ให้ทันการณ์ให้กับบุคลากรไม่ว่าจะเป็นสายวิชาการและสายปฏิบัติการ ต้องมุ่งหาโอกาสในการพัฒนาตน พัฒนางาน โดยทางมหาวิทยาลัยก็จะมีมาตรการส่งเสริม ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษาหรือหลักสูตรสั้นต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยทยอยเปิดตัวออกไปอย่างต่อเนื่องในขณะนี้
อีกประเด็นที่สำคัญในการเผชิญกับความท้าทายทั้งหลายคือ ‘อัตลักษณ์’ ในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่ว่า New Different Better โดยขอเพิ่ม Together เข้าไปเพื่อให้สะท้อนหลักคิดของการพัฒนามหาวิทยาลัยในยุคต่อไป โดยทุกคนจะมีส่วนร่วม และภาคภูมิใจในผลสำเร็จไปด้วยกัน
และจุดแข็งที่สุดของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง คือ วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่แทนด้วยอักษรสำคัญดังนี้ F.O.C.U.S คือ F (Flexibility) = พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง, O (Organization First) = เห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ, C (Creative & Innovative Mindset) = พัฒนาตน พัฒนางาน สร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่า มี service mind, U (Unity & Teamwork) = ทำงานเป็นทีม และโดยเฉพาะ S = (Sincerity & Integrity) ซื่อสัตย์ สุจริต ที่ตรงกับนโยบายรัฐบาลในเรื่องเจตจำนงค์สุจริต หรือ Zero Tolerance for corruption ที่ทุกหน่วยงานต้องประกาศและยึดเป็นหลักดำเนินงาน แต่ มฟล ยึดถือปฏิบัติกันมาโดยตลอด
นอกจากนั้น อธิการบดี ยังได้กำหนดพันธกิจหลัก 5 ประการ เพื่อเป็นทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัย คือ ยึดมั่นดำเนินงานเพื่อสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จย่า ปลูกป่าสร้างคน สร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพ ให้เป็นกำลังสำคัญของประเทศ, ยึดหลักการทำงานตามแบบวัฒนธรรม มฟล ทำงานเป็นทีม (MFU Together), พัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้บุคลากรเพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง, สานต่องานในการพัฒนามหาวิทยาลัย ด้านวิชาการ งานวิจัยและสร้างนวัตกรรม เน้นการพัฒนาต่อยอดไปสู่ตลาด และพัฒนาไปสู่ Digital university และเสริมสร้าง digital mindset ของบุคลากร เพื่อนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ทำน้อยได้มาก และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในยุค disruptive world
และนอกจากนี้ มฟล. ยังมีพันธกิจที่สำคัญคือ การพัฒนาศูนย์การแพทย์ ให้เป็นศูนย์การแพทย์ครบวงจรแห่งภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยประกอบไปด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, ศูนย์บริการสุขภาพแบบครบวงจรแห่งภาคเหนือและภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (MFU Wellness Center) และ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (การแพทย์บูรณาการและความงาม)
และท้ายสุด อธิการบดี ได้พูดถึงหัวใจสำคัญของการทำงานร่วมกันในกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วนี้ว่า “ขอทุกคนทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ ร่วมมือกันพุ่งสู่จุดหมายไปด้วยกัน together to get there”