เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2562 อาจารย์ ดร.ปิยาภรณ์ เชื่อมชัยตระกูล อาจารย์ประจำสำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร และหัวหน้าสถาบันชาและกาแฟ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง(มฟล.) ได้เข้ารับโล่และประกาศเกียรติคุณ หมู่บ้านต้นแบบระดับแม่ข่าย: หมู่บ้านเมี่ยงเพื่อสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น” จาก ดร. อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายในงาน Technomart 2019 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จัดโดยสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
อาจารย์ ดร.ปิยาภรณ์ เชื่อมชัยตระกูล กล่าวว่า การพัฒนาหมู่บ้านดังกล่าวดำเนินการภายใต้กรอบแนวคิด “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนงบประมาณการดำเนินโครงการจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (เดิม) โดยหมู่บ้านดังกล่าวนี้ได้นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิต และมีการขยายผลไปสู่หมู่บ้านใกล้เคียง
บ้านเกี๋ยง ตำบลแม่ลอย อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย หมู่บ้านดังกล่าวนี้มีต้นชาเมี่ยง (ต้นชาอัสสัม) ซึ่งเป็นทรัพยากรหลักที่พบในท้องถิ่นจำนวนมากมีมากกว่า 100 ปีขึ้นไป มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์เมี่ยงตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษและสืบสานต่อให้ลูกหลาน โดยคนโบราณนิยมเก็บใบชาเมี่ยง (ใบที่ 3-5) มาทำเป็นผลิตภัณฑ์เมี่ยง เช่น เมี่ยงหมัก การบริโภคเมี่ยงในประเทศไทยนิยมบริโภคในกลุ่มคนผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันนี้ความนิยมในการกินเมี่ยงเริ่มลดลง เนื่องจาก ไม่ชอบในกลิ่นและรสชาติ รูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ดึงดูดใจผู้บริโภค รูปแบบของผลิตภัณฑ์ไม่มีความหลากหลาย ทำให้ช่องทางการจัดจำหน่ายมีน้อย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผลิตภัณฑ์เมี่ยงมีโอกาสที่จะขยายตลาดและขยายกลุ่มผู้บริโภคได้ค่อนข้างยาก แนวทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหานี้คือ การปรับปรุงรูปแบบเมี่ยงดั้งเดิมให้มีคุณภาพดีและเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการจัดจำหน่ายและดึงดูดใจผู้บริโภค นอกจากนี้การพัฒนาผลิตภัณฑ์เมี่ยงให้อยู่ในรูปแบบใหม่ที่น่ารับประทาน ปรับปรุงรสชาติให้มีความกลมกล่อมน่ารับประทานยิ่งขึ้น นอกจากนี้การเพิ่มการใช้ประโยชน์จากต้นชาเมี่ยงก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยเพิ่มมูลค่าได้ เนื่องจากการเก็บใบชาเมี่ยงนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เมี่ยงหมักนั้น นิยมเก็บใบที่ 3-5 ลงมา ทำให้ขาดการใช้ประโยชน์ของยอดต้นชาเมี่ยงซึ่งสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชาชงดื่มเพื่อเพิ่มมูลค่ากับต้นเมี่ยงได้ ซึ่งในปัจจุบันนี้ทางกลุ่มเกษตรกรได้ทดลองทำผลิตภัณฑ์ชาเขียว และชาแดง เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด
“หมู่บ้านเมี่ยงเพื่อสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น” เป็นหมู่บ้านที่ช่วยรักษาเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์เมี่ยงของทางภาคเหนือในประเทศไทย และนอกจากนี้จะเป็นการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เมี่ยงในรูปแบบที่ต่างออกไปจากเดิม ให้มีลักษณะที่น่ารับประทาน สะดวกต่อการบริโภค เพื่อช่วยเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ให้สามารถขยายไปยังกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มอื่น และยังช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้อีกทางหนึ่งด้วย หมู่บ้านดังกล่าวนี้จะเป็นหมู่บ้านต้นแบบของการผลิตเมี่ยงซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เมี่ยงต่างๆ โดยการนำเอากระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาหมู่บ้านทำให้เกิดความยั่งยืนในอนาคตต่อไป
ที่มา: สถาบันชาและกาแฟ มฟล.