มฟล.จัด เสวนาเรื่อง 'ตามหาความจริงเรื่องไฟป่าและฝุ่นพีเอ็ม 2.5

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น


             วานนี้ (29 พ.ค.) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.)ร่วมจังหวัดเชียงราย ร่วมกับสภาวิศวกร ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อมไทย จัดงานเสวนา ตามหาความจริงเรื่องไฟป่าและฝุ่น PM 2.5 เรื่อง บทบาทสถาบันการศึกษา สภาวิศวกร ร่วมกับท้องถิ่น ป้องกัน/แก้ไขไฟป่าและฝุ่นPM 2.5 ที่ห้องคำมอกหลวง อาคารอี-พาร์ค มฟล. เวลา 09.00-15.00 น. โดยมีนายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิดการเสวนา โดยมี รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี มฟล., ผศ.ยุทธนา มหัจฉริยวงศ์ กรรมการสภาวิศวกรและวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมเสวนา ซึ่งมีผู้แทนหน่วยงานเกี่ยวข้องตลอดจนผู้สนใจเข้าร่วมครบครัน

            การเสวนามีการบรรยายพิเศษและการเสวนาระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 สำนักงานสิ่งแวดล้อม มฟล.สภาวิศวกร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ เพื่อสรุปข้อมูลและหาวิธีการป้องกันและแก้ไขในอนาคต

             โดยนายประจญ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จากสถานการณ์ไฟป่าและจุดความร้อนหรือฮอตสปอตที่นำไปสู่ปริมาณฝุ่นละอองและหมอกควัน หรือค่าพีเอ็ม 2.5 สูงเกินมาตรฐานในปีนี้ ถือว่ารุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเกิดฮอตสปอตขึ้นร่วม 1,000 กว่าครั้ง มีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บอีก 40 กว่าคน ดังนั้นตลอดระยะเวลา 1 ปีนี้ทางจังหวัดจะทุ่มเทเวลาเพื่อหาวิธีการป้องกันเหตุในปีถัดไปให้ได้ ล่าสุดให้แต่ละอำเภอและท้องถิ่นถอดบทเรียนแต่ละพื้นที่เพื่อให้เกิดข้อมูลจากระดับล่างขึ้นบนทั้ง 18 อำเภอ คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ก็จะได้ครบหมด จากนั้นจะนำมาประกอบกับข้อมูลของสภาวิศวกรดังกล่าวเพื่อจะนำไปปรับใช้เป็นมาตรการต่อไป ซึ่งก็คาดว่าจะมีการปรับเปลี่ยนมาตรการกันขนานใหญ่แน่นอน

             ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวอีกว่าสำหรับข้อมูลเบื้องต้นที่ได้จากการปฏิบัติการตั้งแต่มาตรการห้ามเผาวันที่ 15 ก.พ. - 15 พ.ค.นี้ พบว่าไฟที่ลุกไหม้อย่างหนักดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่ทางการเกษตรเลย แต่เกิดขึ้นในเขตป่าเขาทั้งหมดและส่วนใหญ่เกิดในเขตป่าลึกซึ่งยังคงเป็นเรื่องที่น่าสงสัยอย่างมาก โดยเกิดขึ้นหลายจุดทั่วจังหวัด

             เบื้องต้นคาดว่าเกิดจากการสะสมของเชื้อไฟเพราะไม่ลุกไหม้มานาน 2 ปี แต่ก็เชื่อเช่นกันว่าเกิดจากการจุดไฟเผาของคน ทำให้ยังคงเป็นปริศนาที่ต้องหาคำตอบกันต่อไปโดยเมื่อเผาแล้วก็เกิดการลุกไหม้ไปเรื่อยๆ แม้จะดับได้แต่ก็เหลือเชื้อไฟทำให้กลับมาลุกไหม้อีกอย่างต่อเนื่อง เมื่อสอบถามชาวบ้านในพื้นที่และเจ้าหน้าที่แล้วส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าผู้ใดเป็นคนเผา

              กระนั้นพื้นที่แห่งนี้ถือว่าเป็นวิถีชีวิตที่ชาวบ้านจะมีการเผาเป็นประจำทุกปีก่อนที่ฝนจะตก ด้วยเหตุผลในการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกพืชเกษตร ทำลายวัชพืชและแมลงศัตรูพืช โดยที่การกำจัดวัชพืชด้วยวิธีอื่นกระทำได้ยากลำบากมากบนพื้นที่ภูเขาสูง ทำให้ขณะที่คนพื้นที่ราบเดือดร้อนหนักและไม่อยากให้เผา แต่คนบนพื้นที่สูงก็อ้างว่าหากไม่เผาก็จะทำให้พวกเขาจนถึงขั้นอดอยาก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่จังหวัดต้องอาศัยข้อมูลจากหลายฝ่ายเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ได้ต่อไป

               ด้าน รศ.ดร.ชยาพร อธิการบดี มฟล.กล่าวว่า ปัญหาหมอกควันที่ผ่านมาทำให้ มฟล.ต้องหยุดทำการเรียนการสอนระหว่างวันที่ 1-2 เม.ย.เป็นครั้งแรก ดังนั้นจึงได้ให้ความสำคัญและกำหนดบทบาทให้ มฟล.เป็นพื้นที่เพื่อให้เกิดการหาวิธีป้องกันและแก้ไขโดยร่วมกับหน่วยงานองค์กรต่างๆ รวมทั้งตั้งศูนย์ศึกษาวิจัยและปฏิบัติการเพื่อลดปัญหาการเกิดไฟป่าหมอกควันในประเทศไทยและในภูมิภาคขึ้นแล้ว เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการประสานงานซึ่งกรณีของสภาวิศวกรที่ให้การสนับสนุนด้านเงินทุนถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะผลงานวิจัยมีความสำคัญในการนำไปต่อยอดเพื่อแก้ไขปัญหาในอนาคต เช่น คัดแยกวัชพืชและขยะ เพิ่มมูลค่าวัชพืชแทนการเผา ฯลฯ โดยเฉพาะคณาจารย์ใน มฟล.มีผู้สนใจจะทำการวิจัยเรื่องนี้จำนวนมาก ซึ่งก็เชื่อว่าผลสรุปที่ได้จะสามารถนำไปสู่อากาศที่โปร่งใสในปี 2563 ต่อไป

               ด้าน ผศ.ยุทธนา กรรมการสภาวิศวกรฯ กล่าวว่า โครงการจัดเสวนานี้จัดขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูล ต้นเหตุและสาเหตุ เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขการเกิดไฟป่า และฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 สำหรับจัดทำข้อเสนอให้รัฐบาลในการกำหนดมาตรการในอนาคต โดยกำหนดจัดเสวนา 4 ครั้งซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 ที่มาจัดในพื้นที่ประสบเหตุโดยตรงและถือว่าค่าพีเอ็ม 2.5 ที่ตรวจพบเกิดขึ้นสูงที่สุดในโลกด้วย
ทั้งนี้ จากสภาพพื้นที่และวิถีชีวิตที่จำเป็นต้องเผาดังกล่าวทำให้การแก้ไขปัญหาไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็พอมีวิธีการอยู่ โดยตนเคยทำงานให้กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาแล้วพบว่า สามารถนำเอาวัชพืชมาทำถ่าน ปุ๋ย ฯลฯ เพื่อเพิ่มมูลค่าได้โดยเฉพาะวัชพืชที่เป็นหญ้าทั่วไปตนยืนยันว่าสามารถนำมาเป็นถ่านที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างดีได้ ซึ่งหากว่าสามารถเพิ่มมูลค่าจากวัชพืชเหล่านี้ได้ก็ย่อมจะไม่มีความอยากเผาอีกต่อไป เป็นต้น

                 โดยหลังการเสวนาครั้งนี้แล้วจะมีการจัดเวทีเสวนาครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ ในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ คาดว่าจะสรุปผลเพื่อนำเสนอรัฐบาลได้ในเดือน ก.ค.นี้ต่อไป

ที่มาข่าว : ผู้จัดการออนไลน์

  • 1506 ครั้ง