เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 คุณฌอน บูรณะหิรัญ นักสร้างแรงบันดาลใจ นักคิดนักปรัชญาในสื่อสังคมออนไลน์ ที่มีผู้ติดตามเพจกว่า 1.4 ล้านคน เดินทางมาร่วมพูดคุยกับนักศึกษาใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จำนวนกว่า 4,000 คน ในกิจกรรม “เป้าหมายและเส้นทางชีวิต” ส่วนหนึ่งของ How to live and learn on campus 2017 จัดงานโดย สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาวิชาการ ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ
คุณณอน เปิดใจกับน้องๆ ถึงการก้าวข้ามความกลัวไว้ได้อย่างน่าสนใจด้วยการนำเอาประสบการณ์ชีวิตในวัยเด็กของตนเองมาแบ่งปันกับน้องๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาชกต่อยตั้งแต่วัยเด็กจนต้องเข้าสถานพินิจเยาวชน ครอบครัวที่ยากลำบากกับการสร้างเนื้อสร้างตัว การเรียนที่เรียกว่ามีจุดเปลี่ยน การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่กดดันในการใช้ชีวิตสุดๆ สิ่งเหล่านี้คุณฌอนก้าวข้ามมาได้อย่างไร แล้วน้องใหม่ที่ก้าวข้ามการเรียนจากรูปแบบมัธยมศึกษามาเรียนแบบอุดมศึกษา ยิ่งเป็นการเรียนภาษาอังกฤษล้วนๆ ด้วยจะเป็นอย่างไร ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักผู้ชายคนนี้กันก่อน
จากประเด็นสำคัญข้างต้น จะเห็นว่าชีวิตคุณฌอนผ่านอะไรมามากมายก้าวข้ามเรื่องสำคัญในชีวิตหลายเรื่อง กับคำถามของน้องๆ มฟล. ที่ว่า จะทำยังไงไม่ให้กลัวการเรียนเป็นภาษาอังกฤษ? คุณฌอนตอบว่า “ก่อนอื่นต้องถามกลับว่าความกลัวเกิดจากอะไร สำหรับผมความกลัวเกิดจากความไม่รู้เราจึงกลัว เมื่อผมคิดได้แบบนั้นผมจะเรียนรู้และศึกษาเกี่ยวกับเรื่องที่ผมกลัวให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเมื่อผมรู้แล้วผมก็จะไม่กลัวหรือเหลือความกลัวอยู่น้อยที่สุด การเรียนภาษาอังกฤษก็เหมือนกัน เรากลัวที่จะเรียน กลัวที่จะพูด ตอนผมเรียนภาษาไทยผมก็โหดกับตัวเองมากนะครับ ไม่อ่านไม่ฟังภาษาอังกฤษเลย สิ่งสำคัญคือคนรอบตัว ใกล้ตัวเราที่จะให้กำลังใจและคอยช่วยเหลือ"
อีกหนึ่งคำถามคือ จะค้นหาตัวเองได้ยังไง? คุณฌอนตอบว่า “มีกฎ 5 วินาทีอยู่ คือเราต้องลงมือทำสิ่งที่เราคิดว่าต้องทำหรืออยากทำเลยภายใน 5 วินาที เพราะหากเกินกว่านี้สมองของเราจะพยายามหาเหตุผลต่างๆ นาๆ ให้เราล้มเลิกความตั้งใจที่จะทำ เพราะสมองยังคงจดจำสัญชาตญาณของการประหยัดพลังงานเพื่อความอยู่รอดอยู่ เมื่อเรามีความสนใจอะไรหลายอย่างได้ลงมือทำหลายอย่าง เราก็จะค้นพบตัวเองว่าอะไรที่เราต้องการ การได้ลงมือทำเหมือนการเข้าไปในเขาวงกต ที่เราจะได้เรียนรู้และค้นหาทางออก หากเรามัวแต่มองแล้วเอาแต่คิดว่าจะต้องเดินไปทางนั้นต่อด้วยทางนี้โดยไม่ลงไปในเขาวงกตสักทีเราก็จะไม่ค้นพบทางออกอย่างแน่นอน และชีวิตของเราไม่ได้ค้นพบได้เพียงใน 1 -2 วันหรือเดือน แต่จะเป็นการสะสมความคิด ประสบการณ์ของเราจนออกมาเป็นเราในที่สุด นี่คือการค้นหาตัวเองของผม คือลงมือทำ
การเอาชนะความกลัวของคุณฌอนคือการได้ศึกษา หาข้อมูล เกี่ยวกับสิ่งที่กลัวให้มากที่สุด แล้วลงมือทดลองกับสิ่งเหล่านั้น เช่นความกลัวที่ถูกรังแกจากเด็กแถวบ้าน ได้ลงมือเรียนศิลปะการต่อสู้ ความกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ ก่อให้เกิดการอ่านอย่างหนัก จนกลายมาเป็นนักคิด นักปรัชญาที่มีผู้ติดตามเพจจำนวนมาก นอกจากนี้คุณฌอนยังได้กล่าวไว้ว่า “มีความพูดว่าความกลัวเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้เราได้ตระหนักและระวังมากขึ้น เช่น หากมีเสืออยู่ในห้องคนที่ไม่กลัวอะไรก็จะเป็นคนที่ตายก่อน” ดังนั้นน้องๆ มฟล. ที่กำลังกลัวการเรียน Intensive English and Upper Intensive Englishที่กำลังจะถึงนี้ ก็ขอให้เปลี่ยนความกลัวเป็นความกล้าที่จะเรียนรู้ หากไม่เข้าใจก็กล้าที่จะถามอาจารย์ และขอให้ทุกคนเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันช่วยเหลือและสนับสนุนเพื่อนให้ก้าวข้ามการเรียนนี้ไปด้วยกันนะคะ