อาจารย์ เพชรณพัฒน์ ศรีวุทธิยประภา อาจารย์ประจำสำนักวิชานิติศาสตร์ ผู้รับผิดชอบโครงการ เปิดเผยว่า งานเสวนานี้จัดขึ้นเนื่องจากความสัมพันธ์ของรัฐระหว่างประเทศ และเอกชนระหว่างประเทศมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากยิ่งขึ้นนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การค้า การลงทุนทั้งของเอกชนและภาครัฐนำมาทั้งความสำเร็จและความขัดแย้งจนนำไปสู่ข้อพิพาท มีข้อพิพาทระหว่างประเทศเกิดขึ้นมากมายตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยเองเป็นหนึ่งในคู่พิพาทระหว่างประเทศในหลายๆ กรณี
ดังนั้นการศึกษาและเข้าใจกฎหมาย วิธีปฏิบัติ ตลอดจนกรณีตัวอย่างเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับนักศึกษากฎหมายและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการดำเนินกิจกรรมระหว่างประเทศต่อไป สำนักวิชานิติศาสตร์จึงได้จัดเสวนาวิชาการนี้เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ และเอกชนระหว่างประเทศ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงกลไกต่างๆที่มีอยู่ รวมถึง ปัญหาและผลสำเร็จของกลไกการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี
ทั้งนี้ได้เชิญวิทยากรทั้งจากในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นอาจารย์ผู้มีความเชี่ยวชาญทางกฎหมายระหว่างประเทศโดยเฉพาะหัวข้อการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี จึงสามารถฉายภาพกฎหมายเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทได้ชัดเจน และจากภายนอกจากสถาบันอนุญาโตตุลาการ เป็นผู้ปฏิบัติงานโดยตรงในการระงับข้อพิพาท จึงสมารถอธิบายถึงกลไก แนวปฏิบัติ กรณีศึกษา ปัญหาที่พบและความสำเร็จของกลไกได้เป็นอย่างดี
เพื่อให้ผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาซึ่งคือ นักศึกษานิติศาสตร์ชั้นปีที่ 4 ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาและตัวแทนจากภาคผู้ประกอบธุรกิจระหว่างประเทศ ได้ทราบหลักกฎหมาย แนวปฏิบัติขององค์กร ตลอดจนปัญหาและความสำเร็จเกี่ยวกับกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ ได้ทราบและเข้าใจในประเด็นข้อคำถามต่างๆที่ผู้เข้าร่วมมีการซักถามในที่ประชุม ตลอดจนคณาจารย์ที่เข้าร่วมกิจกรรม ได้เรียนรู้และร่วมแลกเปลี่ยน ตลอดจนเพื่อพัฒนางานวิชาการของตัวเองในอนาคต