มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดยสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ จัดโครงการอบรมแนวโน้มและประเด็นการวิจัยในผู้สูงอายุ โดยมี รศ.ดร.ลินจง ธิบาล อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงราย เป็นวิทยาการถอดบทเรียนในหัวข้อ ประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุและประเด็นแนวโน้มการวิจัยผู้สูงอายุ จากศูนย์วิจัยและนวัตกรรมด้านการดูแลผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ห้องประชุมพู่ระหง อาคารศูนย์ปฏิบัติการเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ (E -Park)เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2560 มีผู้บริหารและคณาจารย์จากสำนักพยาบาลศาสตร์ มฟล. เข้าร่วมการอบรมอย่างพร้อมเพรียง
รศ.สุปราณี อัทธเสรี คณบดีสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มฟล. กล่าวถึงการดำเนินการจัดอบรมครั้งนี้ มุ่งสร้างความพร้อมให้กับผู้บริหารและคณาจารย์เพื่อรับสังคมผู้สูงอายุ เพื่อศึกษาถึงแนวทางการดำเนินงานศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่เป็นเลิศ ทั้งการดำเนินงาน การบริหาร ไปจนถึงทิศทางการวิจัย โดยเลือกศึกษาจากศูนย์วิจัยและนวัตกรรมด้านการดูแลผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องจากมีการดำเนินงานต่อเนื่องมาระยะเวลาหนึ่ง โดยในส่วนของงานวิจัย คณาจารย์ในสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มฟล. มีงานวิจัยหลายหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเกี่ยวกับโรคเรื้อรังต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวานหรือโรคหลอดเลือดหัวใจ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ อ.เชียงแสน และรอบๆ มหาวิทยาลัย อย่างตำบลท่าสุด เป็นต้น
อีกทั้งเพื่อสร้างความพร้อมให้กับบุคลากร หากมีโอกาสได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศที่มีบทบาทเป็นศูนย์พัฒนาการดูแลผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง ดูแลผู้สูงอายุต่อเนื่องจากโรงพยาบาล ที่พ้นภาวะวิกฤติแล้วดูแลสุขภาพต่อเนื่องไปถึงชุมชนไปจนถึงกลับไปอยู่บ้าน ซึ่งปัจจุบันจากโรงพยาบาลไปจนถึงบ้านนั้นมีรอยต่อหลายจุดสำคัญที่ต้องการการดูแล
คณบดีสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ยังได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อรับสังคมผู้สูงอายุ ว่านอกจากการจัดอบรมเพื่อพัฒนาคณาจารย์แล้ว ในส่วนของการเรียนการสอนในสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ก็มีความพร้อม เนื่องจากการเรียนการสอนการพยาบาลครอบคลุมในทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ ทั้งแนวคิดในการดูแลผู้สูงอายุ ลักษณะผู้สูงอายุที่เปลี่ยนแปลงไปตามวัย ทั้งยังมีการฝึกปฏิบัติบนหอผู้ป่วยที่นักศึกษาได้มีประสบการณ์พยาบาลทั้งผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังมีรายวิชาและกิจกรรมจิตอาสาในการเข้าไปเรียนรู้ฝึกปฏิบัติดูแลผู้สูงอายุในชุมชนหรือกลุ่มผู้สูงอายุที่กลับไปอยู่ที่บ้าน การติดตามไปเยี่ยมที่บ้าน ดูแลโรคเรื้อรัง/ไม่เรื้อรัง ตามบริบทของชุมชน