เมื่อวันเสาร์ที่ 4 มกราคม 2568 หลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดยศูนย์บริการวิชาการ และสถาบันศิลปวัฒนธรรมและอารยธรรมลุ่มน้ำโขง จัดกิจกรรม “เสวนาสร้างแรงบันดาลใจจากศิลปินที่ประสบความสำเร็จ” โดยได้รับเกียรติจากศิลปินระดับประเทศ อาจารย์ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ อาจารย์พรชัย ใจมา และอาจารย์ประจำหลักสูตร ประกอบด้วย อาจารย์ทรงเดช ทิพย์ทอง อาจารย์วาทิตย์ เสมบุตร อาจารย์ขจรเดช หนิ้วหยิ่น อาจารย์วัชระ กว้างไชย์ และอาจารย์กาญจนา ชลศิริ ร่วมเสวนาและตรวจประเมินผลงานสร้างสรรค์ศิลปกรรม ณ พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง และปฐมาคารนุสรณ์ ๒๕๔๒ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
โดยในการเสวนาครั้งนี้ มีผู้เรียนหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง รุ่นที่ 4 พ.ศ. 2567 (หลักสูตรพุทธศิลป์สร้างสรรค์ ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2567) จำนวน 17 รูป/คน เข้าร่วมรับฟังการเสวนาในรายวิชาเสวนาศิลปกรรม ภาคการศึกษาที่ 2 พ.ศ. 2567 และยังมีกิจกรรมตรวจประเมินผลงานสร้างสรรค์สมบูรณ์ที่เกิดขึ้นจากหลักสูตรฯ จำนวน 48 ชิ้นงาน โดยเป็นการเปิดกว้างให้ผู้เรียนได้จัดทำผลงานพุทธศิลปกรรมสร้างสรรค์ในรูปแบบของตัวเอง เพื่อค้นหาแนวทางและอัตลักษณ์ของตนเอง ซึ่งอาจารย์ทุนท่านจะได้ร่วมประเมินผลงาน เพื่อแนะแนวทางที่จะส่งเสริมให้พัฒนาผลงานต่อให้ดียิ่งขึ้นในภาคการศึกษาที่ 2 เพื่อก้าวสู่ศิลปินมืออาชีพต่อไป
บางส่วนจากการเสวนา อาจารย์พรชัย ใจมา ได้กล่าวถึงเส้นทางการเป็นศิลปินของตนเองไว้ว่า “ต้องวางเป้าหมายของตนเอง ค้นหาเส้นทางที่จะไป ฝึกพื้นฐาน ค้นหาสิ่งที่สนใจและอยากถ่ายทอดงานออกมา สร้างลักษณะเฉพาะตัวเพื่อค้นพบแนวทางที่พอเหมาะพอดีกับตัวเอง หากตั้งเป้าจะเป็นศิลปินที่เป็นที่ยอมรับ ต้องสร้างโปรไฟล์ สร้างโอกาสให้ตัวเอง หาโอกาสส่งงานประกวด และสะสมงานเพื่อจัดแสดงงานเดี่ยวของตัวเอง พัฒนาผลงานให้ดีต่อเนื่องอยู่เสมอ จัดการตัวเอง รู้จักสร้างคอนเท้นท์ ชัดเจนในเป้าหมายของตนเอง มีความมุ่งมั่น มั่นใจ จะทำให้มีคนสนับสนุน”
ด้าน อาจารย์ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ ได้กล่าวไว้บางส่วนบางตอนว่า “ต้องมีศรัทธา ทั้งศรัทธาทั้งต่อตนเอง ศรัทธาในผลงาน ศรัทธาในผู้ที่เป็นแรงบัลดาลใจ เมื่อประสบความสำเร็จให้ส่งต่อโอกาสให้แก่รุ่นน้อง เพื่อสร้างศิลปินรุ่นใหม่ต่อไป เช่นเดียวกับตนเองที่ได้รับโอการและการสนับสนุนจากอาจารย์หลายท่าน หนึ่งในนั้นคือ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่เป็นแรงบันดาลใจของตน (รวมทั้งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งหลักสูตรระสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม มฟล.) ซึ่งเคยแนะนำให้ตนมุ่งศึกษาทางด้านศิลปกรรมไทย มากกว่าการสร้างงานตามแนวทางศิลปกรรมต่างชาติ สร้างปณิธานในตนเองให้ชัดเจน มุ่งเห็นคุณค่าในตนเอง มากกว่ามองเรื่องมูลค่า เพราะเมื่อสร้างผลงานที่มีคุณค่าได้สำเร็จ มูลค่าก็จะเกิดขึ้นเอง”
.
ชมภาพเพิ่มเติม
https://www.facebook.com/media/set/?vanity=MFUTODAY&set=a.927378852855778