มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจัดอบรมโครงการการประยุกต์ใช้แอปพลิเคชันเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน

หมวดหมู่ข่าว: อบรมสัมมนา SDG04 ข่าวเด่น

วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม 2567 สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ฯ  ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้จัดโครงการการประยุกต์ใช้แอปพลิเคชันเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ณ ห้อง E4A 518  อาคารพลเอกสำเภา ชูศรี (E4) โดยมี อาจารย์ ดร.ขวัญตา คีรีมาศทอง รองผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ฯ กล่าวเปิดโครงการ โครงการอบรมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กับ มูลนิธิมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเพื่อการพัฒนาครูชนบท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแนะนำแอปพลิเคชันที่จำเป็นสำหรับการจัดการเรียนการสอนและเพิ่มทักษะให้ครูผู้เข้าร่วมอบรมสามารถประยุกต์ใช้งานแอปพลิเคชัน สำหรับการจัดการเรียนการสอนได้
.
โครงการอบรมแบ่งออกเป็นสองช่วง คือ การแนะนำเครื่องมือเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน อาทิ Quizlet Nearpod Edpuzzle Quizizz Pear Deck เป็นต้น และการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) โดยนำเนื้อหาวิชาที่ครูจัดการเรียนการสอนมาออกแบบในเครื่องมือต่างๆ โดยมีวิทยากรจากสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ฯ นำทีมโดย นายธวัชชัย บุญธรรม นักเทคโนโลยีการศึกษา พร้อมทีมงานผู้เชี่ยวชาญ โดยการอบรมในครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างทักษะด้านเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการจัดการเรียนการสอนด้วยเครื่องมือแอปพลิเคชัน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนการสอน และการทำงานของครูในยุคปัจจุบัน อีกทั้งยังช่วยยกระดับและพัฒนาทักษะครูผู้เป็นบุคลากรทางการศึกษาที่สำคัญ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีของนักเรียนต่อไป 
.
นอกจากนี้ โครงการยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) SDG 4: Quality Education 
การเพิ่มคุณภาพการเรียนการสอน: การพัฒนาสื่อมัลติมีเดียจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนผ่านเทคโนโลยีที่เข้าถึงง่าย สื่อเหล่านี้สามารถปรับให้เหมาะสมกับบริบทของการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ซึ่งช่วยให้ผู้สอนมีประสบการณ์การสร้างสื่อที่น่าสนใจ และผู้เรียนมีประสบการณ์การเรียนที่เข้าใจง่ายขึ้น 
การสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต: การนำเสนอเทคนิคการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น การใช้เทคโนโลยีมัลติมีเดียและการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เข้าถึงได้และไม่มีค่าใช้จ่าย ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาตลอดชีวิต 
สนับสนุนการเรียนรู้ที่เท่าเทียม: การนำเสนอเทคนิคการออกแบบและเครื่องมือออกแบบออนไลน์ ที่จะช่วยให้ผู้สอนสามารถปรับแก้ไขได้ตามลักษณะเนื้อหาวิชาและผู้เรียนที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยสร้างประสบการณ์การเรียนการสอนที่มีคุณภาพและเปิดกว้าง
.
โครงการอบรมนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากครูผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 45 คน ซึ่งแสดงความพร้อมที่จะนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์สื่อการสอนที่เป็นประโยชน์และยั่งยืนสำหรับผู้เรียนในอนาคตต่อไป

  • 1007 ครั้ง