มฟล. ร่วมกับสถาบันสุนทรภู่ และกองทุนนภาลัย สุวรรณธาดา เพื่องานวรรณศิลป์ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “สานฝันวรรณศิลป์ถิ่นเหนือ” ส่งเสริมโอกาสการแข่งขันของนักเรียนภาคเหนือ

หมวดหมู่ข่าว: SDG04 ข่าวเด่น

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ผศ. ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นประธานกล่าวเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ โครงการ “สานฝันวรรณศิลป์ถิ่นเหนือ” ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยมี รศ.นภาลัย สุวรรณธาดา ผู้ที่ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย พ.ศ. 2564 เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ 2564 จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมเป็นหนึ่งในทีมวิทยากรครั้งนี้ ซึ่งมีนักเรียนจากเขตภาคเหนือเข้าร่วมกว่า 35 คน จาก 10 โรงเรียน ณ ห้องคำมอกหลวง อาคาร M-Square มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยสำนักวิชาศิลปศาสตร์ ร่วมกับสถาบันสุนทรภู่ และกองทุนนภาลัย สุวรรณธาดา เพื่องานวรรณศิลป์ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการในโครงการ “สานฝันวรรณศิลป์ถิ่นเหนือ” ประจำปี พ.ศ. 2567 ระหว่างวันที่ 7-8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาในเขตภาคเหนือ 17 จังหวัด พร้อมครูอาจารย์ผู้ควบคุม เข้าร่วมการอบรม

รศ.ดร.สรบุศย์ รุ่งโรจน์สุวรรณ คณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์ กล่าวว่า เยาวชนไทยในเขตจังหวัดภาคเหนือขาดโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันทักษะทางวิชาการด้านวรรณศิลป์ ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ เช่น ความยากลำบากในการเดินทางเข้าร่วมแข่งขัน ข้อจำกัดในด้านงบประมาณ ส่งผลให้เยาวชนเหล่านี้มักไม่ประสบความสำเร็จเมื่อมีโอกาสเข้าแข่งขันในระดับประเทศ นอกจากนั้นบุคลากรทางการศึกษาในสาขาวิชาภาษาไทยที่อยู่ในท้องถิ่นก็ขาดโอกาสในการการพัฒนาตนเอง เช่น การเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการด้านวรรณศิลป์ ดังนั้นมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยสำนักวิชาศิลปศาสตร์ ร่วมกับสถาบันสุนทรภู่ และกองทุนนภาลัย สุวรรณธาดา เพื่องานวรรณศิลป์ จึงดำเนินโครงการ "สานฝันวรรณศิลป์ถิ่นเหนือ" ครั้งนี้ขึ้นมา ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ยุทธศาสตร์ที่ 3 บูรณาการทุนวิชาการกับทุนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาสังคม/ชุมชน/พื้นที่ ซึ่งมีประเด็นยุทธศาสตร์ 3.1 ส่งเสริมและสนับสนุนงานบริการวิชาการที่เป็นที่พึ่งแก่สังคม และเพิ่มคุณค่าให้กับทุนท้องถิ่น/ชุมชน นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของสำนักวิชาศิลปศาสตร์ ยุทธศาสตร์ที่ 2 ประยุกต์ใช้ความรู้ในการพัฒนาท้องถิ่นและสังคม

โดยนักเรียนที่เข้าร่วมการอบรมจะได้เรียนรู้และทำกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ

  • เสวนา “ต่าง GEN มาเป็นนักกลอน” สร้างแรงบันดาลใจในการแต่งคำประพันธ์
  • เทคนิคการแต่งกาพย์ “คนละวรรค แก๊งละบท”
  • เทคนิคการแต่งกลอน “ฝ่าด่าน 18 อรหันต์”
  • เทคนิคการแต่งกลอน “สี่คู่พิฆาต”
  • ประชันกลอนสดนักเรียนและครู “ชิงชัยประชันกลอน”
  • บรรยายเทคนิคการสร้างวรรคทอง “นิทานวรรคทอง”
  • วิเคราะห์ วิจารณ์ วิพากษ์ผลงาน “กรองกานท์วิจารณ์กลอน”

นอกจากนี้ครู อาจารย์ ที่เข้าร่วมทางมหาวิทยาลัยได้จัดกิจกรรมล้อมวงเล่า “สอน แต่ง แข่งอย่างไรจึงประสบความสำเร็จ” เพื่อช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างคุณครู

---------------------

รายชื่อวิทยากร

  1. รศ.นภาลัย สุวรรณธาดา
  2. รศ.สุชาติ บารมี
  3. อาจารย์วิไลรัตน์ ปัญญาสงค์
  4. อาจารย์ชมพร เพชรอนันต์กุล
  5. ดร.รพีรรณเพชรอนันต์กุล
  6. ดร.นันทา ทองทวีวัฒนะ
  7. ดร.วีณา วุฒิจำนงค์
  8. อาจารย์แมน คล้ายสุวรรณ
  9. อาจารย์ณรงค์ชัย ทิพย์มณี
  10. อาจารย์วิษณุ พุ่มสว่าง
  11. อาจารย์เมธาวี ก้านแก้ว
  12. อาจารย์สัมฤทธิ์ มีทรัพย์มั่น
  13. อาจารย์อารีย์ บัวคุ้มภัย

รายชื่อโรงเรียนที่เข้าร่วม

  1. โรงเรียนจันจว้าวิทยาคม
  2. โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ภาคเหนือ
  3. โรงเรียนเทศบาลตำบลป่าตาล (ป่าตาลราษฎร์นุกูล)
  4. โรงเรียนบ้านหลวง
  5. โรงเรียนปงรัชดาภิเษก
  6. โรงเรียนแม่ต่ำตาดควันวิทยาคม
  7. โรงเรียนวารีเชียงใหม่
  8. โรงเรียนเวียงเชียงรุ้งวิทยาคม
  9. โรงเรียนสรรพวิทยาคม
  10. โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม
  • 378 ครั้ง
  • #สำนักวิชาศิลปศาสตร์