ภายในการประชุมดังกล่าวยังมีการบรรยายในหัวข้อ ‘ASEAN Tea trend’ โดย Mr Liew Choon Kong Chairman of Tea Trade Association of Malaysia และ ‘World coffee trend’ โดย นายทาธฤษ กุณาศล ผู้จัดการฝ่ายบริการการเกษตร บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ‘การเตรียมความพร้อมอุตสาหกรรมชา – กาแฟ เพื่อรองรับการเปิดตลอดเสรี’ โดย นางสาวจณัญญา บัณฑุกุล ผู้อำนวยการส่วนสินค้าเกษตร สำนักการสินค้ากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ‘ทิศทางการมุ่งสู่ นครแห่งชาและกาแฟตามห่วงโซ่คุณค่า’ โดย ดร.พนม วิญญายอง รองอธิการบดี มฟล.
โดยอธิการบดี มฟล.กล่าวระหว่างการเปิดงานว่า เชียงรายอยู่ในสภาพภูมิประเทศที่เหมาะสมสำหรับปลูกชาและกาแฟที่มีคุณภาพ ซึ่งกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดเชียงรายมาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี ซึ่งเชียงรายได้กำหนดให้ชา-กาแฟเป็นพืชยุทธศาสตร์ที่สำคัญและมีการผลักดันให้เชียงรายเป็นศูนย์กลางการผลิตชาและกาแฟของประเทศ โดยมีเป้าหมายการดำเนินการอย่างเป็นระบบตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
“มฟล.ตระหนักและให้ความสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมชาและกาแฟมาโดยตลอด มีภารกิจในการสนับสนุนด้านงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการอุตสาหกรรมดังกล่าวต่อไป ทั้งยังเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ หวังให้การประชุมครั้งนี้เป็นการสร้างความเข้าใจและความตระหนักในการที่จะร่วมมือกันทำงานทุกภาคส่วนเพื่อร่วมผลักดันให้เชียงรายให้เป็นนครแห่งชาและกาแฟ”
ทั้งนี้เนื้อหาที่วิทยากรได้บรรยายบางส่วนได้พูดถึงความต้องการบริโภคชา-กาแฟจากทั่วโลกทวีจำนวนสูงขึ้น อย่างเมื่อเร็วๆนี้ ผลผลิตกาแฟโลกมีจำนวนราว 9.51 ล้านตัน กลุ่มผู้บริโภคมีจำนวนมากขึ้น และความต้องการหลากหลายมากขึ้นด้วยเช่นกัน วิทยากรยกตัวอย่างว่าในอดีตผู้บริโภคกลุ่มใหญ่อาจเป็นเพศชายมีอายุ ดื่มเฉพาะช่วงเช้าเท่านั้น แต่ปัจจุบันกลุ่มผู้บริโภคมีทุกเพศทุกวัย และดื่มกาแฟได้ตลอดทั้งวัน อย่างที่ปรากฏมีร้านกาแฟอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือร้านกาแฟที่เปิดตลอด24ชั่วโมง เช่นเดียวกับเครื่องดื่มชา