มฟล.จัดงานเลี้ยงรับรองเพื่อเป็นเกียรติแด่ผู้ได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปี 2565 และรางวัลเชิดชูเกียรติ ‘ตุงทองคำ’ ประจำปี 2566

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จัดงานเลี้ยงรับรองเพื่อเป็นเกียรติแด่ผู้ได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปี 2565 และรางวัลเชิดชูเกียรติ ‘ตุงทองคำ’ ประจำปี 2566 เมื่อวันจันทร์ที่ 26 กุภาพันธ์ 2567 เวลา 18.00 น. ที่ห้องประชุมวนาสวรรค์ วนาศรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ผู้ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ ’ตุงทองคำ’ และแขกผู้มีเกียรติ 
.
พิธีการมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดี กล่าวความเป็นมาและประกาศเกียรติคุณดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ผู้ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ ’ตุงทองคำ’ จากนั้น ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัย กล่าวแสดงความยินดี อธิการบดี กล่าวแสดงความยินดี และดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ผู้ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ ’ตุงทองคำ’ กล่าวสุนทรพจน์
.
สำหรับปีนี้มีผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ตามที่สภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีมติอนุมัติ ได้แก่ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง แก่ รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรรณวิภา กฤษฎาพงษ์ และปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมศาสตร์ แก่ รองศาสตราจารย์ นภาลัย สุวรรณธาดา
.
โดยรองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรรณวิภา กฤษฎาพงษ์ เป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์เล็งเห็นว่าธุรกิจอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและความงาม มีอัตราการเติบโตสูงและมีศักยภาพเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศได้ ด้วยการริเริ่มของรองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรรณวิภา กฤษฎาพงษ์ ในการจัดตั้งสำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางเป็นผลให้สำนักวิชาสามารถเปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรีและปริญญาโท สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางได้อย่างทันที ในปีการศึกษา 2548 ถือเป็นสำนักวิชาแรกและหลักสูตรแรกที่เปิดสอนด้านวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน นับจากนั้นจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญในด้านวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของประเทศ 
.
ด้าน รองศาสตราจารย์ นภาลัย สุวรรณธาดา เป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างยิ่งในสาขาวิชาภาษาไทย  เป็นอาจารย์และนักวิชาการแล้ว ยังเป็นนักกวีนิพนธ์ นักกลอนชื่อดังที่สร้างสรรค์ผลงานวรรณศิลป์ ผ่านการเขียนกลอน บทกวีนิพนธ์ที่มีความงดงามทางภาษาศาสตร์และมีคุณค่าต่อสังคม เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมไทย การส่งเสริมการอนุรักษ์ภาษาไทยและวรรณกรรม ให้คงอยู่ คู่สังคมไทย จนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่า เป็นผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานการเขียนกลอนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านภาษาศาสตร์ ชั้นเชิงทางวรรณศิลป์และถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกผ่านบทกลอนด้วยเทคนิคการเขียนกลอนที่ให้ผู้อ่านสัมผัสได้ มีแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ การให้กำลังใจและสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้อ่าน อีกทั้งบางบทกวียังเป็นการบันทึกเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในสังคม ณ ช่วงเวลานั้น ๆ อีกด้วย
.
ทั้งนี้ผู้ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ ‘ตุงทองคำ’ คือ นายศิริชัย มาโนช และ รองศาสตราจารย์ ดร.สุริยพงศ์ วัฒนาศักดิ์
.
โดย นายศิริชัย มาโนช เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันและให้คำปรึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมาตั้งแต่แรกเริ่ม ทั้งยังมีส่วนร่วมในการระดมทุนและได้ให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะกรรมการอำนวยการศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารศูนย์บริการสุขภาพแบบครบวงจรแห่งภาคเหนือและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
.
สำหรับ รองศาสตราจารย์ ดร.สุริยพงศ์ วัฒนาศักดิ์ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการร่วมดำเนินการก่อตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมาตั้งแต่เริ่มต้น โดยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ทบวงมหาวิทยาลัย เมื่อปีพุทธศักราช 2540-2541 โดยเป็นผู้มีส่วนร่วมที่สำคัญในการสำรวจและจัดเตรียมพื้นที่สร้างมหาวิทยาลัย ปลูกป่า และวางระบบการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดเตรียมเอกสารโครงการ รายละเอียดงบประมาณ ขับเคลื่อน และประสานงานเพื่อดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ของโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พ.ศ. 2541และผลการศึกษาได้ถูกนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้นที่จังหวัดเชียงราย และผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามลำดับ และคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในฐานะมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ขึ้นที่จังหวัดเชียงราย และสามารถเปิดรับนักศึกษาได้ตามห้วงเวลาที่กำหนดไว้ในแผนการดำเนินงาน ในปีการศึกษา 2541 อีกทั้งผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้ทำการศึกษาไว้ได้นำมาใช้อ้างอิงในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในระยะต่อมาได้อย่างเป็นรูปธรรม

  • 205 ครั้ง