สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ทรงเปิดงาน "มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567" ทอดพระเนตรผลงานวิจัยพลิกฟื้นวัฒนธรรมเชียงราย และศิลปะการประดิษฐ์เชียงแสน

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิดงาน "มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567" หรือ Thailand Research Expo 2024 ณ โรงแรมเซนทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด "สานพลังวิจัย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย อย่างยั่งยืน" เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567
.
ในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง หัวหน้าพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้กราบบังคมทูลถวายรายงานผลการวิจัยโครงการ "พลิกฟื้นทุนวัฒนธรรมเชียงรายสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ UNESCO" ซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงราย โดยได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ต่อเนื่อง 3 ปี
.
โครงการดังกล่าวประกอบด้วยโครงการย่อยที่สำคัญ ได้แก่ "ย่านแม่คำสบเปิน" (2564) "เชียงแสนสร้างสรรค์" (2565) และ "ภูมิทัศน์ของตำนาน" (2566) ซึ่งก่อให้เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ประกอบด้วยการรวบรวมทุนทางวัฒนธรรม 280 รายการ สร้างรายได้ให้ชุมชน 70 รายการ และเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม 40 ราย โดยมีผลตอบแทนทางสังคมรวม (SROI) 1 : 3.56 บาท 
.
นอกจากนี้ โครงการยังมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เชียงรายได้รับการยอมรับจาก UNESCO ในฐานะ "เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ"
.
ในการนี้นายกานต์กุญช์ บำรุงชาติ หัวหน้าส่วนบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้กราบบังคมทูลถวายรายงานผลงานวิจัยศิลปะการประดิษฐ์ "นาคา มาลี อัคคี สะหลีเมือง" ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ตัวละครที่สะท้อนอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของชาวเชียงแสน ประกอบด้วย
.
นาคา (NAKA): ตัวแทนของผู้สร้างพื้นที่ปลอดภัยและพื้นที่ทำมาหากินให้กับชาวเชียงแสน ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นสัญลักษณ์ของจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อม แสดงถึงความสมดุลระหว่างธรรมชาติกับวัฒนธรรม
.
มาลี (MALEE): สะท้อนความหลากหลายทางชาติพันธุ์และประวัติศาสตร์ของเชียงแสน เป็นตัวแทนของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และความเท่าเทียมกันของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งปวง
.
อัคคี (AK-KEE): สื่อถึงความอบอุ่นและพลังของชีวิต เป็นตัวแทนของภูมิปัญญาด้านอาหารของเชียงแสน ที่ซ่อนอยู่ในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการกินของชาวเมือง
.
สะหลีเมือง (SALI MUANG): เป็นสัญลักษณ์ของผู้ดูแลหัวใจเมืองเชียงแสน แสดงถึงความเป็นเจ้าของเมือง การปกป้องรักษาเมือง และการต้อนรับผู้มาเยือนด้วยไมตรีจิต
.
ผลงานวิจัยศิลปะการประดิษฐ์นี้นอกจากจะสะท้อนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเชียงแสนแล้ว ยังเป็นการสร้างสรรค์สื่อที่สามารถนำไปใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และสร้างความเข้าใจในประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของชาวเชียงแสนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
งานมหกรรมวิจัยแห่งชาติครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นเวทีแสดงศักยภาพด้านการวิจัยของประเทศ แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงการนำงานวิจัยมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับแนวคิดหลักของงานในการขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างยั่งยืนด้วยพลังแห่งการวิจัยและนวัตกรรม

  • 821 ครั้ง