ทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าวเริ่มรับสมัครและคัดเลือกนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน ก่อนเข้าสู่การอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘เทคโนโลยีสำหรับโรงเรียนอัจฉริยะและการเรียนรู้ในศตวรรษที่21’ จากนั้นนักเรียนแต่ละทีมพัฒนาโครงการเพื่อแข่งขัน โดยมีนักศึกษาและอาจารย์ มฟล.ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด โดยโครงงานนั้นได้กำหนดให้มาจากปัญหาใกล้ตัวผู้เข้าแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน โรงเรียนหรือชุมชน พัฒนาโครงงานให้ตรงโจทย์หรือความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้กิจกรรม‘IT Maker Day 2018’ ยังจัดขึ้นเพื่อเป็นโอกาสที่ผู้เข้าแข่งขันได้พัฒนาความรู้และศักยภาพของตนเอง ตลอดจนได้สัมผัสกิจกรรมการเรียนการสอนด้านไอทีและวิศกรรมศาสตร์เพื่อทราบว่ามีความสนใจหรือไม่อย่างไรเพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจศึกษาต่อต่อไป
คณบดีเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวระหว่างการเปิดงานไว้ว่า IT Maker Day จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 มีแนวความคิดจากนโยบายขับเคลื่อนประเทศด้วยไทยแลนด์ 4.0 โดยแต่ละภาคส่วนเข้าร่วมผลักดัน ซึ่งในบริบทของสำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ทำหน้าที่จัดการเรียนการสอน จึงตั้งใจสร้างกลุ่มเยาวชนที่สนใจสร้างนวัตกรรมหรือโครงงาน ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่มัธยมศึกษา จึงได้เชิญโรงเรียนมัธยมศึกษาจากทั่วจังหวัดเชียงรายเข้าร่วมกิจกรรมที่พัฒนาให้สามารถสร้างชิ้นงานด้วยกลไกพื้นฐาน อย่างบอร์ดสมองกลฝังตัว กำหนดหัวข้อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้เพื่อพัฒนาว่าจะทำอย่างไรในการใช้กลไกต่างๆ สร้างชิ้นงานขึ้นมาให้น่าสนใจ
สำหรับในปีนี้กำหนดให้สร้างชิ้นงานที่พัฒนาโรงเรียนอัจฉริยะหรือนำไปสู่การแก้ปัญหาให้กับชุมชนหรือในครัวเรือน อย่างที่เห็นผลงานของนักเรียนที่นำมาเสนอผลงาน ไม่ว่าจะเป็นถังขยะอัจฉริยะ ที่ส่งสัญญาณแจ้งไปยังมือถือผู้ดูแลเมื่อขยะใกล้เต็มถังหรือเครื่องให้อาหารไก่ที่ปล่อยอาหารออกมาเติมให้รางอาหารเต็มอยู่เสมอ ซึ่งแต่ละชิ้นงานต่างต้องใช้ความรู้หลากหลาย
“นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้ทั้งในแง่แนวความคิดและการนำไปสู่การสร้างชิ้นงานจริงหรือการสร้างนวัตกรรม ทั้งการมองโจทย์ปัญหาให้ออก การใช้อุปกรณ์อิเลคทรอนิก และการออกแบบวงจรไฟฟ้าที่ต้องใช้ในการขับเคลื่อน ตลอดจนการใช้บอร์ดสมองกลฝังตัว เป็นสมองว่าเจอเหตุการณ์อย่างนี้จะต้องทำอย่างไร ซึ่ง ดังนั้นการที่จัดงานนี้ขึ้นมาทำให้เด็กได้เริ่มก้าวมาสู่โลกของการสร้างสรรค์แบบนี้ตั้งแต่มัธยมศึกษา แทนที่ต้องรอมหาวิทยาลัย ทำให้คุ้นเคยกับเทคโนโลยี และมีความคิดสร้างสรรค์ เมื่อก้าวสู่ระดับมหาวิทยาลัยก็จะสามารถสร้างนวัตกรรมทีชิ้นงานใหญ่ขึ้นซับซ้อนมากขึ้นได้ ทั้งยังทำให้ได้ตรวจสอบว่าตนเองมีความชอบหรือสนใจในด้านนี้หรือไม่เพื่อเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจศึกษาต่อ หรืออย่างน้อยแนวคิดในการทำงานครั้งนี้ก็เป็นฐานให้รู้จักที่จะแก้ปัญหาต่างๆ รอบตัวได้"
คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวต่อว่า ต้องการสนับสนุนให้เกิดกลุ่มผู้สนใจกิจกรรมหรืองานการสร้างนวัตกรรมแบบนี้ให้มากขึ้น เชื่อว่าจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน เมือง และประเทศต่อไปได้ สำหรับผู้สนใจเรียนต่อในสาขาวิชานี้ ต้องเป็นคนที่ใฝ่รู้ ขี้สงสัย ชอบทดลอง ชอบประดิษฐ์
“ทุกวันนี้เราต้องพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศ อะไรก็ต้องซื้อ เราก็ต้องสูญเสียรายได้ ทั้งที่ของบางอย่างคนไทยสร้างได้ เพียงแต่เขาไม่มีเวทีที่เปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความคิดอะไรแบบนี้ออกมา อย่างพอมีเวทีแบบนี้ เด็กก็มีโอกาสได้แสดง ได้ลองทำงาน พอมีพื้นฐานแล้ว ผมมั่นใจว่าเขาจะต่อยอดงานของเขาเองได้ จะมีการสร้างงานของเขาต่อไปเรื่อยๆ อย่างบอร์ดสมองกลก็เป็นพื้นฐานของอะไรหลายอย่าง”