เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมคณะผู้ทรงคุณวุฒิและเจ้าหน้าที่ ได้เดินทางมาติดตามและประเมินผลโครงการนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเศษเหลือและการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในโซ่การผลิตและการแปรรูปสับปะรดภูแล ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จังหวัดเชียงราย
.
โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างนักวิจัยจาก มฟล. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) โดยได้รับการสนับสนุนจาก วช. มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเศษเหลือ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์ตลอดห่วงโซ่การผลิตสับปะรดภูแล
.
สรุปภาพรวมของโครงการฯ โดย รศ.ดร. อนรรฆ ขันธะชวนะ จาก มจธ. หัวหน้าโครงการฯ นวัตกรรมการใช้ประโยชน์วัสดุเศษเหลือตามแนวทาง Zero waste โดย รศ.ดร.วาริช ศรีละออง จาก มจธ. ผศ.ดร.พันธ์สิริ สุทธิลักษณ์ จาก มฟล. และ ผศ.ดร.สุทธิวัลย์ สีทา จากมฟล. คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของกระบวนการการปลูกและแปรรูปสับปะรดภูแลตลอดห่วงโซ่การผลิต โดย รศ.ดร.ทรงเกียรติ ภัทรปัทมาวงศ์ จาก มจธ. การใช้เทคโนโลยีโดรนและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์ โดย ผศ.ดร.สอนกิจจา บุญโปร่ง จาก มก. เทคโนโลยีไมโครบับเบิ้ลเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม โดย รศ.ดร.ณัฐชัย พงษ์ประเสริฐ จาก มจธ.
.
ทีมวิจัยใช้เทคโนโลยีโดรนและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการวิเคราะห์และคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว ผลการวิจัยพบว่า วัสดุเศษเหลือทิ้ง (จุกและใบ) หลังการเก็บเกี่ยวก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 58 ของกระบวนการในไร่ทั้งหมด
.
โครงการยังมุ่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเศษเหลือจากสับปะรดภูแล เช่น การสกัด "น้ำตาลหายาก" (Rare Sugar) จากเปลือกสับปะรด ซึ่งมีมูลค่าสูงและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ การนำใบสับปะรดเหลือทิ้งมาผลิตเป็นถาดใบสับปะรด (PALF Tray) ที่ย่อยสลายได้เร็วกว่าวัสดุอื่น การใช้เทคโนโลยีไมโครนาโนบับเบิ้ลในการล้างและยืดอายุสับปะรดภูแลตัดแต่งพร้อมบริโภค ซึ่งช่วยลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนได้ 30% และลดการใช้สารเคมีในการฆ่าเชื้อลงได้ 50% เมื่อเทียบกับวิธีดั้งเดิม
.
นอกจากนี้ยังมีการนำผลสับปะรดตกเกรดมาพัฒนาเป็นขนมกินเล่น เครื่องดื่ม น้ำส้มสายชู ซอสสับปะรด เพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากผลสับปะรดที่ไม่ผ่านมาตรฐานเพื่อตัดแต่งส่งขายทั้งลูก
.
โครงการนี้มีเป้าหมายในการสร้างฉลากคาร์บอนที่ถูกต้องสำหรับผลิตภัณฑ์สับปะรดภูแล เพื่อเพิ่มการยอมรับในตลาดต่างประเทศ และแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรให้มีความยั่งยืนมากขึ้น โดยคำนึงถึงทั้งมิติเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับแนวคิด Zero waste
.
การดำเนินโครงการนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มมูลค่าให้กับสับปะรดภูแลและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต
.
อย่างไรก็ตามผู้อำนวยการ วช.และผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ให้ความเห็นที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาโครงการนี้ต่อไป โดยชื่นชมนักวิจัยที่ผนึกกำลังจากหลายสาขาวิชาและสถาบันการศึกษา ทั้งได้แนะนำให้เสริมกำลังด้วยนักการตลาดเพื่อผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเศษเหลือให้ไปได้ไกลช่วยผู้ประกอบการตามหาตลาดต่อไป