ทั้งนี้ผลงานวิจัยแบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ ด้านนวัตกรรมอาหาร 2 ผลงานจาก สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร ประกอบด้วย โครงการ ‘ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชงร้อนจากเปลือกมังคุดผสมเบอร์รี่’ โดย ดร.ปิยาภรณ์ เชื่อมชัยตระกูล ที่เป็นการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชงร้อนที่ทำจากเปลือกในของมังคุดผสมเบอรรี่บรรจุในถุงเยื่อกระดาษ (Tea bag) เพื่อสะดวกต่อการชงดื่มและมีสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย สำหรับอีกโครงการคือ ‘การพัฒนาสูตรน้ำลูกหม่อนเข้มข้นผสมถังเช่า’ โดย ดร.จุฑามาศ นิวัฒน์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร ส่งผลให้เกิดรายได้สู่ชุมชนและท้องถิ่น
ด้านผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 8 ผลงานจากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยที่นำพืชผักผลไม้ภายในประเทศมาพัฒนาเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ได้แก่ ข้าวเหนียวดำ ดอกกล้วยไม้ ผักปลัง รวงข้าวหอมมะลิ เห็ดฟาง และเห็ดหูหนูขาว โดยเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ดังนี้ ‘ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารสกัดรวงข้าวหอมมะลิ’ โดย รศ.ดร.มยุรี กัลยาวัฒนกุล ‘อายไลน์เนอร์จากข้าวเหนียวดำ’ โดย ดร.นิสากร แซวัน ‘ผลิตภัณฑ์แต่งคิ้วจากข้าวเหนียวดำ’ และ ‘เซรั่มเพิ่มความชุ่มชื้นผิวกระจ่างใสที่มีส่วนประกอบของสารพอลิแซ็กคาไรด์จากเห็ดหูหนูขาว’ โดย ดร.ภาณุพงษ์ ใจวุฒิ ‘เซรั่มที่มีส่วนผสมของสารสกัดดอกกล้วยไม้’ และ ‘เอสเซ้นส์ต้นแบบผสมสารสกัดผักปลัง’ โดย ผศ.ดร.ณัฐยา เหล่าฤทธิ์ ‘เอสเซนส์น้ำตบบำรุงผิวหน้าจากสารสกัดเห็ดฟาง’ โดย ดร.ปัญญวัฒณ์ ปินตาทอง
ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2 ผลงานจากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ที่พัฒนาโครงการ ‘ระบบจัดการขยะอันตรายชุมชนอัจฉริยะ’ โดย ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ สำหรับเป็นอุปกรณ์ต้นแบบตู้เก็บขยะอันตรายอัจฉริยะ ที่สามารถชั่งและวัดปริมาณขยะอันตรายแต่ละประเภทและส่งข้อมูลแจ้งเตือนสถานภาพผ่านระบบอินเตอร์เน็ทได้ และโครงการ ‘กระเบื้องโบราณเชิงอนุรักษ์’ โดย ผศ.ดร.สุธี วัฒนศิริเวช ที่ศึกษาการนำวัสดุที่เป็นผลพลอยได้จากการทำเหมืองของผู้ประกอบการนำมาใช้ประโยชน์ รวมถึงอนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรมของการใช้กระเบื้องโบราณด้วย
ด้านศิลปวัฒนธรรม 1 ผลงานจากสำนักวิชาศิลปศาสตร์ เป็นการนำงานวิจัยทางมนุษยศาสตร์เรื่อง ‘ตำราการทำนายด้วยกระดูกไก่’ ไปสร้างผลิตภัณฑ์และสร้างมูลค่าจากองค์ความรู้ที่เป็นนามธรรม โดยมาเป็นเครื่องประดับที่มีความหมายต่างๆ ในชื่อ ‘มังคลาภรณ์นฤมิต: การออกแบบและผลิตสินค้าเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อสร้างมูลค่าจากฐานภูมิปัญญา’ โดย ผศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง
ทั้งนี้ ในงานนี้มีการประกวดบูธนิทรรศการ ผลงานวิจัยเด่น ซึ่งมหาวิทยาลัยได้คัดเลือกผลงานเด่นเพื่อประกวด ได้แก่ ‘ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารสกัดรวงข้าวหอมมะลิ’ และ ระบบจัดการขยะอันตรายชุมชนอัจฉริยะ’ และบูธผลงานของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงอยู่ตำแหน่งที่ BL6 ด้านงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ จึงขอเชิญชวนผู้สนใจทุกท่าน สามารถเข้าเยี่ยมชมบูธนิทรรศการงานวิจัยและชมผลิตภัณฑ์ได้ตามวันและเวลาดังกล่าว