มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จัด MFU Coffee Fest 2024 และ การประชุมวิชาการ หัวข้อ พัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟไทยอย่างยั่งยืน ระหว่างวันที่ 15-16 มีนาคม 2567 ที่อาคารพลเอกสำเภา ชูศรี (E4) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดย นางสุภาพร โชคเฉลิมวงศ์ ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และ ศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา วงศ์เกษมจิตต์รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมเปิดงาน โดยมี ดร.อมร โอวาทวรกิจ หัวหน้าหัวหน้าโครงการศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและการจัดการห่วงโซ่คุณค่ากาแฟประเทศไทย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ก่อนมีพิธีมอบรางวัล MFU Best Coffee Farmer จำนวน 4 รางวัล โดยกิจกรรมนี้มีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย เกษตรกร ผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟ บุคลากรจากภาครัฐและภาคเอกชน นักวิชาการ นักวิจัย และผู้สนใจ คาดว่าจะมีจำนวนมากถึง 1,500 คน
.
ทั้งนี้จากนโยบายสำคัญของประเทศในการยกระดับสินค้าเกษตร และพัฒนาเกษตรกรเพื่อผลิตวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีคุณภาพสูง รองรับการแปรรูปและพัฒนาสินค้าและส่งออก เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศและยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาวัตถุดิบที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับกระบวนการแปรรูป โดยนำองค์ความรู้ ผลงานวิจัยและนวัตกรรมมาใช้เชื่อมต่อจากภาคการผลิตสู่ภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจ จะนำไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง หรือเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น
.
ประเทศไทยมีผลผลิตกาแฟอะราบิก้าจำนวน 11,169 ตัน/ปี ปลูกมากในภาคเหนือตอนบนและปลูกมากที่สุดในจังหวัดเชียงราย ส่วนกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้ามีผลผลิตประมาณ 22,505 ตัน/ปี ปลูกกันมากในภาคใต้และปลูกมากที่สุดในจังหวัดชุมพร กาแฟมีมูลค่าการส่งออกสูงไม่แพ้พืชเศรษฐกิจของไทยชนิดอื่น จัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่ตลาดต้องการและมีศักยภาพในอนาคต
.
ปัจจุบันความต้องการใช้เมล็ดกาแฟของโรงงานแปรรูปในประเทศไทยมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากกระแสความนิยมดื่มกาแฟ ทั้งกาแฟคั่วบดและกาแฟสําเร็จรูปที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการผลิตกาแฟสําเร็จรูปเพื่อการส่งออกเพิ่มมากขึ้น และในปัจจุบันมีแนวโน้มการบริโภคกาแฟที่เน้นการผลิตกาแฟที่มีเรื่องราว การนำเอาองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการผลิต และการพัฒนากลิ่นรสเพื่อบ่งบอกความ
เฉพาะของกาแฟ ได้ทำให้มีการผลิตกาแฟคุณภาพ มีรสชาติที่น่าสนใจที่เรียกว่า กาแฟคุณภาพพิเศษ ได้แก่อะราบิก้าที่เป็น Specialty coffee และ Fine Robusta เป็นต้น ทั้งนี้การพัฒนาการผลิตกาแฟจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ที่เป็นสากลเพื่อตอบมาตรฐานกาแฟที่ระบุไว้ในหน่วยงานกาแฟระดับโลก
.
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้มีการดำเนินการในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านกาแฟ และการพัฒนาศักยภาพการผลิตกาแฟที่มีคุณภาพและมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ภายใต้สถาบันวิจัยและนวัตกรรม โดยมีสถาบันชาและกาแฟ และส่วนจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม เป็นหน่วยงานขับเคลื่อน ที่ผ่านมาได้ดำเนินการโครงการและกิจกรรมที่ส่งเสริมการการพัฒนาเกษตรกรเพื่อพัฒนาคุณภาพการผลิตกาแฟ การใช้องค์ความรู้เพื่อพัฒนากระบวนการแปรรูปและจัดการผลผลิต การพัฒนาเกษตร ผู้ประกอบการ ชุมชนที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากจังหวัดเชียงรายอันเห็นถึงความสำคัญและศักยภาพการผลิตสินค้าคุณภาพที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด ขยายผลการดำเนินงานสู่ภาคเหนือตอนบน และเชื่อมโยงสู่ระบบการผลิตกาแฟในประเทศไทย และสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ความร่วมมือในระดับนานาชาติ
.
สำหรับการจัดงาน MFU Coffee Fest 2024 เส้นทางกาแฟ เส้นทางความสุข ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ดังนี้
1.เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างผู้เชี่ยวชาญ เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ หน่วยงานสนับสนุนภาครัฐและเอกชน เพื่อเชื่อมโยงการดำเนินการและเกิดการนำองค์ความรู้ไปต่อยอดและพัฒนา
2. เพื่อประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินโครงการต่อภาคีที่เกี่ยวข้อง ในรูปแบบของการนำเสอนเมล็ดกาแฟของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ แก่ผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟ และผู้ที่มีความสนใจในธุรกิจกาแฟ
3. เพื่อให้เกิดการเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบการร้านกาแฟ และผู้ที่มีความสนใจในธุรกิจกาแฟ เพื่อเชื่อมโยงตลาดทั้งในและต่างประเทศ
ภายในงานจะแบ่งเป็นพื้นที่การจัดกิจกรรมเป็น
- โซนเวทีกลางในการเสวนาและเปลี่ยนเรียนรู้ และการแข่งขัน
- โซนจัดนิทรรศการกาแฟ ของเกษตรกร ร้านกาแฟคุณภาพ
- โซนจัดกิจกรรม workshop เพื่อพัฒนาทักษะทางด้านการแฟ
- โซนเจรจาธุรกิจ
- โซนจัดแสดงงานศิลปะ งานฝีมือ อาหาร และเครื่องดื่ม
.
นอกจากนี้ภายในงาน MFU Coffee Fest 2024 จะมีการประชุมวิชาการในหัวข้อ “การพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟไทยอย่างยั่งยืน” ภายใต้โครงการศูนย์กลางด้านความรู้ หรือ Hub of Knowledge ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการจัดตั้ง “ศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและการจัดการห่วงโซ่คุณค่ากาแฟประเทศไทย” ที่มีเป้าหมายดำเนินงานในการสร้างสรรค์และรวบรวมองค์ความรู้และผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตกาแฟ สร้างเครือข่ายการทำงานแบบเชื่อมโยง และให้บริการและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตกาแฟอย่างครบวงจร