มฟล.เปิดเวทีเมืองสร้างสรรค์เพื่อ เล่า ‘ลมหายใจเดียวกัน’ สู้กับฝุ่น PM2.5 จากวันนี้สู่อนาคตเชียงราย

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ร่วมกับสภาลมหายใจเชียงราย และภาคีเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของเชียงราย นำโดยองค์การบริการส่วนจังหวัดเชียงราย บริษัทเชียงรายพัฒนาเมือง กลุ่มนักออกแบบเชียงราย ร่วมกันจัด Chiang Rai Creative Market หรือ ‘กาดก้อมสร้างเมือง’ ระหว่างวันที่ 16-17 มีนาคม 2567 เพื่อใช้แนวคิด ‘ตลาด’ ในความหมายเชิงสร้างสรรค์ ให้เป็นพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพบปะผู้คน การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการการนำเสนอความคิดใหม่ให้กับเมือง ‘กาดก้อม’ เป็นตลาดขนาดเล็กที่จะขับเคลื่อนเป็นเส้นเลือดและพื้นที่ทางสังคมในเมืองสร้างสรรค์เชียงราย
.
ชวนกันเล่าด้วย ‘ลมหายใจเดียวกัน’
ในการจัดงานได้เปิดเวทีเพื่อระดมความคิดเชิงก้าวหน้าในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ของเชียงราย โดยมี นายประเสริฐ จิตพลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นพ.สุภัค ปิติภากร นายชัชชวาล ทองดีเลิศประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ นางเตือนใจ ดีเทศน์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา อาจารย์สุรสิทธิ์ ปุสุรินทร์คำ ประธานสภาลมหายใจจังหวัดเชียงราย และ นายสมพงษ์ สารทรัพย์ ศิลปินอาวุโสเชียงราย ดำเนินรายการโดย ดร.จิราพร ขุนศรี โดยผู้ร่วมเสวนาทุกท่านได้กล่าวถึงการทำงานที่เมืองเชียงรายทำมาโดยตลอดและประสบความสำเร็จคือการลดจุดความร้อนจากการเผา ที่เชียงรายลดลงจนบางวันไม่พบจุดความร้อนเลย แต่อย่างไรก็ตามคุณภาพอากาศของเชียงรายยังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมาก โดยเฉพาะต่อเด็กและคนชรา ทำให้บางครอบครัวต้องอพยพย้ายที่อยู่ที่ทำงานออกไปเป็นการถาวร 
.
วงเสวนายังระบุว่าเชียงรายยังต้องมองไปยังอนาคต เมืองเชียงรายต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดนโยบายของรัฐที่จะปกป้องผู้คนรวมถึงการเจรจาระหว่างประเทศ ไม่ควรมองแค่การเผาแต่ควรมองผู้ได้ประโยชน์จากระบบที่สร้าง PM2.5 ขึ้นมาคิดด้วย สภาลมหายใจของแต่ละพื้นที่ควรร่วมมือกันให้เข้มแข็งมากขึ้นเป็นข้อคิดที่สรุปได้จากเวทีในวันนี้ 
.
เชียงรายเมืองสร้างสรรค์กับ PM2.5
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมมือกับเครือข่ายในจังหวัดเชียงราย เพื่อนำแนวคิดการออกแบบของเพื่อนสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ทั่วโลกมาปรับใช้ในการแก้ปัญหาสภาพอากาศในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างเป็นระบบ การเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกเป็นข้อได้เปรียบเพราะเรามีเพื่อนอยู่ทั่วโลกและเพื่อนเหล่านั้นสามารถแบ่งปันความคิดและวิธีการที่ดีที่ได้รับการสอบทานมาแล้วเป็นเรื่องที่ทันสมัยทันสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มาใช้ในการแก้ปัญหาของเราได้ 
.
รองศาสตราจารย์ ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง ผู้ได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนเรื่องนี้ว่า เรื่องปัญหา PM2.5 เป็นสัญญาที่เมืองเชียงรายได้เขียนไว้ในใบสมัครว่าเรามุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหานี้ เมื่อเชียงรายได้รับการรับรองเป็นเมืองสร้างสรรค์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 และเริ่มได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ในประเทศ คือ กทม. และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ในการนำแนวคิดการออกแบบที่แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และป้องกันตนเองจากภัยพิบัติ มาทำงานในเชียงรายและพื้นที่ชายแดนระหว่างประเทศ โดยเริ่มการทำงานมาตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ซึ่งผลของการทำงานนี้จะเกิดผลกระทบชัดเจนในสถานการณ์ปีหน้า 
.
สำหรับโครงการที่จะดำเนินการคือการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมด้วยการออกแบบ โครงการจัดทำคู่มือและอุปกรณ์การเผชิญสภาวะผุ่น PM2.5 ในเด็กและคนชรา โครงการนำเสนอเมืองที่ยั่งยืนจากแนวคิดของเยาวชนเพื่อให้องค์กรปกครองส่งท้องถิ่นนำไปประยุกต์ใช้ และยังมีโครงการ Design School โครงการความร่วมมือกับนักออกแบบจากต่างประเทศมาร่วมมือกับนักออกแบบเชียงรายสร้างผลิตภัณฑ์ที่แก้ปัญหา PM2.5 นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกด้านการออกแบบ โดยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้ตั้งคณะทำงานมารองรับการทำงานเมืองสร้างสรรค์ของเชียงรายเป็นที่เรียบร้อยพร้อมทำงานทันที
.
นิทานเพื่อส่งเสียงว่า ‘เราอยู่ที่นี่’
มหาวิทยาลัแม่ฟ้าหลวง ทำงานงานวิจัยเรื่องภูมิทัศน์ของตำนาน ที่นำนิทานพื้นบ้านมาขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรม นำกลุ่มนิทานมาสนับสนุนในงาน ‘กาดก้อมสร้างเมือง’ นำเรื่อง Horton Hears a Who! หรือในภาษาไทยว่า ฮอร์ตัน กับ โลกจิ๋วสุดมหัศจรรย์ ที่โลกของมนุษย์ตัวเล็กๆ ได้รับการปกป้องโดยช้างที่ชื่อฮอร์ตั้น ที่ต่อสู้กับระบบการปกครองเหล่าสัตว์ซึ่งไม่เชื่อว่าโลกของมนุษย์ตัวจิ๋วกำลังตกอยู่ในอันตราย โดยฮอร์ตันให้เหล่ามนุษย์ตัวจิ๋ว ร่วมมือร่วมใจกันส่งเสียงให้ดังและใช้อุปกรณ์ต่างๆ ให้เกิดเสียงจนเหล่าผู้บริหารได้ยินและพบว่ามนุษย์ตัวจิ๋วมีอยู่จริงและกำลังเดือดร้อนต้องการความข่วยเหลือ ทำให้เด็กๆ และผู้เข้าร่วมกิจกรรมเห็นว่า เราต้องส่งเสียงให้ดังเหมือนมนุษย์ตัวจิ๋วที่ต้องให้ผู้บริหารบ้านเมืองเห็นว่ากำลังตกอยู่ในอันตรายจากฝุ่น PM2.5 ‘กาดก้อมสร้างเมือง’ เป็นพื้นที่ทางสังคมที่ให้เหล่านักสร้างสรรค์ส่งเสียงเพื่อขับเคลื่อนเมืองไปสู่ความยั่งยืนเช่นกัน
 

  • 19013 ครั้ง
  • #พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง