ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 7 มีนาคม 2567 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยสำนักวิชาการจัดการ ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพดำเนินโครงการ Mekong Media Field trip 2024 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือ ระหว่าง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และ Research Institute for Climate Change (DRAGON Mekong Institute) of Can Tho University, Vietnam ในพื้นที่อำเภอเชียงแสนและอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 29 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม และระหว่างวันที่ 3 – 7 มีนาคม 2567 ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เดินทางไปยังประเทศเวียดนาม โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสถานทูตอังกฤษ ณ กรุงฮานอย ภายใต้การสนับสนุนของกองทุน FCDO ของสหราชอาณาจักร ทั้งนี้มีสื่อมวลชนจากประเทศเวียดนามและไทยเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจำนวนกว่า 50 คน โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิสม อินทรลาวัณย์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง หัวหน้าโครงการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ กรณีศึกษาพื้นที่ลุ่มแม่น้ำอิง เป็นผู้ประสานงานหลัก
โครงการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อให้สื่อมวลชนจากประเทศเวียดนามและไทยที่มีความสนใจในเรื่องความยั่งยืน ปัญหาการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง เพื่อเสริมสร้างความตระหนักต่อสภาพภูมิอากาศ และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสื่อมวลชนกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องที่
ในการทัศนศึกษาที่จังหวัดเชียงราย ผู้เข้าร่วมโครงการได้เยี่ยมชมอำเภอเชียงแสนและอำเภอเชียงของ ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง เพื่อสังเกตและเรียนรู้มุมมองของภาคธุรกิจ ภาครัฐ และชุมชนท้องถิ่น ต่อความท้าทายในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ รวมถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเขื่อนต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และสิ่งแวดล้อมริมแม่น้ำโขง อาทิ อนันตรา สามเหลี่ยมทองคำ แคมป์ช้าง แอนด์ รีสอร์ท สำนักงานท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน โฮงเฮียนแม่น้ำของ และโครงการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ กรณีศึกษาพื้นที่ลุ่มแม่น้ำอิง ณ พื้นที่ป่าส้มแสง บ้านป่าข่า ตำบลป่าตาล อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิสม อินทรลาวัณย์ เปิดเผยว่า โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนโดย สถานทูตอังกฤษเป็นโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเวียดนามและไทยในประเด็นของแม่น้ำโขง โดยมีกลุ่มเยาวชนและสื่อมวลชนจากเวียดนามประมาณ 30 คน และจากไทยประมาณ 20 คน โครงการนี้ก็เป็นโครงการที่อยากจะสร้างความตระหนักถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง สภาวะภูมิอากาศว่าเป็นปัญหาที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ความคาดหวังจากโครงการคือ อยากให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง 2 สถาบันเพราะว่าเราใช้น้ำแม่น้ำโขงร่วมกัน ทางเวียดนามก็เห็นว่าเขาเป็นประเทศปลายน้ำที่สุด เลยมาเรียนรู้ว่าทางประเทศไทยเรามีปัญหาคล้ายคลึงกันไหม และพบว่าในบ้างพื้นที่มีปัญหาคล้ายคลึงกันครับ ซึ่งจะนำไปสู่การประชุม วางแผน และบูรณาการพื้นที่ร่วมกันครับ
ทั้งนี้นายนาวิน วรเวก นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาการบัญชี สำนักวิชาการจัดการ ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว เปิดเผยว่า ผมเป็นคนที่สนใจในเรื่องของการพัฒนาธุรกิจเป็นทุนเดิม และเคยมีโอกาสร่วมพัฒนาธุรกิจในเขตพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงของจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นโครงการระดับประเทศและใช้เวลามากกว่า 1 ปี จึงมีความสนใจที่อยากจะพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เมื่อเห็นว่ามีการเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการนี้จึงไม่รอช้าที่จะสมัครเข้าร่วม
“โครงการนี้ทำให้เราได้เห็นมุมมองต่าง ๆ ว่าจะเป็นเรื่องของปัญหานั้นที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงว่ามันส่งผลกระทบต่อผู้คนในสังคมอย่างไร และในฐานะสื่อมวลชนหรือผู้ที่จะสามารถบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ไปเผยแพร่ ก็จะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสียงของชุมชนตามแนวพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง หรือธุรกิจปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อนำไปสู่การ บำรุง นำไปสู่การดูแล และรักษาธรรมชาติของพื้นที่ลุ่มน้ำโขงอย่างเติบโตแล้วยั่งยืนต่อไปในอนาคต” นายนาวิน วรเวก กล่าว