มฟล.เตรียมจัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แด่ผู้สำเร็จการศึกษา ปีการศึกษา 2565 ในวันที่ 27 กพ.นี้

หมวดหมู่ข่าว: ประกาศ / ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวเด่น

มฟล.มีกำหนดจัดพิธีมอบปริญญาบัตร ปีการศึกษา 2565 ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 โดยพระบาทสมด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรคเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา 
.
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.)  มีกำหนดจัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตร สำหรับผู้สำเร็จการศึกษา ปีการศึกษา 2565 ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 โดยพระบาทสมด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2565 ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก จากสำนักวิชา แพทยศาสตร์, ทันตแพทยศาสตร์, นวัตกรรมสังคม, จีนวิทยา, การแพทย์บูรณาการ, ศิลปศาสตร์, วิทยาศาสตร์, การจัดการ, เทคโนโลยีสารสนเทศ, อุตสาหกรรมเกษตร, นิติศาสตร์, วิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง, วิทยาศาสตร์สุขภาพ, และพยาบาลศาสตร์
.
ทั้งนี้มีกำหนดการวันฝึกซ้อม เริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 บัณฑิตรายงานตัวฝึกซ้อมแยกตามสำนักวิชา ไปจนถึงวันฝึกซ้อมใหญ่ ในวันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 ที่จะมีกิจกรรมถ่ายภาพหมู่บัณฑิตตามลำดับ พิธีมอบเหรียญรางวัลเกียรติยศผลการเรียนดีเด่น และพิธีปัจฉิมโอวาท รวมถึงพิธีถวายสักการะและกราบบังคมทูลลาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จากนั้นจึงเป็นพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก
.
สำหรับปีนี้มีผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ตามที่สภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีมติอนุมัติ ได้แก่ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง แก่ รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรรณวิภา กฤษฎาพงษ์ และปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมศาสตร์ แก่ รองศาสตราจารย์ นภาลัย สุวรรณธาดา 
.
โดยรองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรรณวิภา กฤษฎาพงษ์ เป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์เล็งเห็นว่าธุรกิจอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและความงาม มีอัตราการเติบโตสูงและมีศักยภาพเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศได้ ด้วยการริเริ่มของรองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรรณวิภา กฤษฎาพงษ์ ในการจัดตั้งสำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางเป็นผลให้สำนักวิชาสามารถเปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรีและปริญญาโท สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางได้อย่างทันที ในปีการศึกษา 2548 ถือเป็นสำนักวิชาแรกและหลักสูตรแรกที่เปิดสอนด้านวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน นับจากนั้นจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญในด้านวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของประเทศ 
.
ด้าน รองศาสตราจารย์ นภาลัย สุวรรณธาดา เป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างยิ่งในสาขาวิชาภาษาไทย  เป็นอาจารย์และนักวิชาการแล้ว ยังเป็นนักกวีนิพนธ์ นักกลอนชื่อดังที่สร้างสรรค์ผลงานวรรณศิลป์ ผ่านการเขียนกลอน บทกวีนิพนธ์ที่มีความงดงามทางภาษาศาสตร์และมีคุณค่าต่อสังคม เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมไทย การส่งเสริมการอนุรักษ์ภาษาไทยและวรรณกรรม ให้คงอยู่ คู่สังคมไทย จนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่า เป็นผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานการเขียนกลอนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านภาษาศาสตร์ ชั้นเชิงทางวรรณศิลป์และถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกผ่านบทกลอนด้วยเทคนิคการเขียนกลอนที่ให้ผู้อ่านสัมผัสได้ มีแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ การให้กำลังใจและสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้อ่าน อีกทั้งบางบทกวียังเป็นการบันทึกเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในสังคม ณ ช่วงเวลานั้น ๆ อีกด้วย

.

ทั้งนี้ผู้ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ ‘ตุงทองคำ’ คือ นายศิริชัย มาโนช และ รองศาสตราจารย์ ดร.สุริยพงศ์ วัฒนาศักดิ์ โดย นายศิริชัย มาโนช เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันและให้คำปรึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมาตั้งแต่แรกเริ่ม ทั้งยังมีส่วนร่วมในการระดมทุนและได้ให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะกรรมการอำนวยการศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารศูนย์บริการสุขภาพแบบครบวงจรแห่งภาคเหนือและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
.
สำหรับ รองศาสตราจารย์ ดร.สุริยพงศ์ วัฒนาศักดิ์ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการร่วมดำเนินการก่อตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมาตั้งแต่เริ่มต้น โดยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ทบวงมหาวิทยาลัย เมื่อปีพุทธศักราช 2540-2541 โดยเป็นผู้มีส่วนร่วมที่สำคัญในการสำรวจและจัดเตรียมพื้นที่สร้างมหาวิทยาลัย ปลูกป่า และวางระบบการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดเตรียมเอกสารโครงการ รายละเอียดงบประมาณ ขับเคลื่อน และประสานงานเพื่อดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ของโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พ.ศ. 2541และผลการศึกษาได้ถูกนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้นที่จังหวัดเชียงราย และผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามลำดับ และคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในฐานะมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ขึ้นที่จังหวัดเชียงราย และสามารถเปิดรับนักศึกษาได้ตามห้วงเวลาที่กำหนดไว้ในแผนการดำเนินงาน ในปีการศึกษา 2541 อีกทั้งผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้ทำการศึกษาไว้ได้นำมาใช้อ้างอิงในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในระยะต่อมาได้อย่างเป็นรูปธรรม

  • 7497 ครั้ง