รองอธิการบดี กล่าวในพิธีเปิดว่า “มฟล.กับ วช. ได้มีความร่วมมือทางวิชาการร่วมกันในการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยของประเทศเพื่อพัฒนาศักยภาพนักวิจัยให้เป็นนักวิจัยที่มีคุณภาพ สามารถนำผลการวิจัยมาประยุกต์สู่การใช้ประโยชน์ในระดับประเทศหรือภูมิภาค จึงได้จัดอบรมนี้ขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะ ส่งเสริมนักวิจัยที่อยู่ในระบบวิจัย ให้มีความเป็นมืออาชีพในด้านการวิจัยเพิ่มมากขึ้น ตามแผนการขับเคลื่อน และปฏิรูประบบวิจัยแบบบูรณาการของประเทศและกรอบยุทธศาสตร์การวิจัยแห่งชาติ 20 ปี และสร้างเครือข่ายวิทยากรฝึกอบรมนักวิจัยระหว่างสถาบันต่างๆ เพิ่มขึ้น”
ทั้งนี้ภายในงานมีทั้งการรับฟังบรรยายในหัวข้อต่างๆ และการฝึกปฏิบัติการ อาทิ ‘การพัฒนาโจทย์คำถามวิจัย และการกำหนดวัตถุประสงค์ที่มุ่งสู่การใช้ประโยชน์’ โดย ศ.(พิเศษ) ดร.กาญจนา เงารังสี, แบบแผนการวิจัย การกำหนดแบบแผนการวิจัยที่เหมาะสมกับคำถามการวิจัยและวัตถุประสงค์การวิจัย การสุ่มตัวอย่าง โดย รศ.ดร.เสาวคนธ์ สุดสวาท เป็นต้น
คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเข้าร่วมกิจกรรม ทั้งเป็นผู้มีความสนใจในการทำงานวิจัยอยู่อย่างสม่ำเสมอหรือเพื่อเตรียมการสำหรับโครงการสำคัญในความรับผิดชอบ อย่าง ดร.รวิวรรณ์ เจริญทรัพย์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ เข้าร่วมกิจกรรมเนื่องจากต้องการเรียนรู้แนวความคิดเกี่ยวกับการเสนอโครงการวิจัยแบบบูรณาการ อย่างตนทำงานวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพร ที่นอกจากศึกษาคุณสมบัติและการนำไปใช้แล้ว ยังมีประเด็นต่อยอดไปสู่ภาคธุรกิจ ตลอดจนถึงการเข้าถึงแหล่งทุนวิจัย นอกจากนี้ยังเข้าร่วมเพื่อเตรียมตัวเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้เริ่มต้นทำงานวิจัย ทั้งในสำนักวิชาและในโครงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านสมุนไพร
ด้าน ผศ.อารีรัตน์ โกสิทธิ์ อาจารย์ประจำสำนักวิชานิติศาสตร์ ที่ทำงานวิจัยอยู่อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากเห็นความสำคัญของประโยชน์จากงานวิจัย ให้เหตุผลในการเข้าร่วมกิจกรรมว่า
“การทำวิจัยทำให้ได้องค์ความรู้ใหม่ๆ ได้ข้อมูลไปประยุกต์กับองค์ความรู้เดิมที่เคยมีและได้เห็นสถานการณ์ปัญหาที่ได้พบใหม่ๆ และได้หาทางออก ซึ่งคำตอบที่ได้จากปัญหาจะสามารถตอบโจทย์สังคม ไปช่วยชุมชนได้ ซึ่งตัวเองชอบวิจัยมากๆ ที่สำคัญจากการทำงานวิจัยได้ผลประโยชน์ให้กับชุมชนแล้วสิ่งนี้เอาไปคุยในห้องเรียนไปสื่อสารนักศึกษาได้ ถ้าบังเอิญงานวิจัยกับหัวข้อในการสอนไปด้วยกันไดจะเยี่ยมมาก”