การประชุมวิชาการนี้จัดขึ้นโดยส่วนหนึ่งเพื่อฉลองการก่อตั้ง มฟล.ครบรอบ 20 ปี และที่สำคัญคือเพื่อเพื่อเปิดโอกาสให้นักวิชาการและนักวิจัย ทั้งภายในและภายนอกสถาบันการศึกษานำเสนอผลงานวิชาการด้านชายแดนศึกษาและการพัฒนาระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดแลกเปลี่ยนข้อมูลทัศนะและความรู้ระหว่างนักวิชาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและองค์กรภาคประชาสังคมด้านชายแดนศึกษาและการพัฒนาระหว่างประเทศ และเพื่อสร้างการเรียนรู้สถานการณ์การพัฒนาในพื้นที่ชายแดน
อธิการบดี ได้กล่าวในการเปิดงานว่า มฟล.ตั้งอยู่ในพื้นที่ชายแดน โดยจังหวัดเชียงรายมีพรมแดนติดกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีเส้นเขตแดนยาวรวมกันถึง 308 กิโลเมตร ทั้งมีเส้นทางการคมนาคมเชื่อต่อไปถึงสาธารณรัฐประชาชนจีน เชียงรายจึงเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน การพัฒนา การเท่องเที่ยว การเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชนข้ามพรมแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ภูมิภาคอาเซียน และอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
“มฟล.มีความตั้งใจเป็นอย่างสูงในการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความรู้ทางด้านวิชาการ เพื่อผลักดันให้สังคมพัฒนาไปสู่เป้าหมายการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในโลกยุคไร้พรมแดน”
ทั้งนี้ในการประชุมวิชาการดังกล่าว มีทั้งการปาฐกถา ทั้งการอภิปราย ที่น่าสนใจจากนักวิชาการ และผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหัวข้อ ‘หลังเขตเศรษฐกิจพิเศษ’ โดย รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ ‘เสียงของคนท้องถิ่นข้ามแดน’ โดย คุณเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, อาจารย์เสาวนีย์ แก้วจุลกาญจน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ, คุณไพรินทร์ เสาะสาย มูลนิธิแม่น้ำนานาชาติ, คุณกรกนก วัฒนภูมิ มูลนิธิเพื่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และดำเนินรายการโดย อาจารย์อลิสรา เหล็กคำ สำนักวิชานิติศาสตร์ มฟล.