มฟล. จัดกิจกรรมตามรอยปณิธาน เรียนรู้รักษ์ธรรมชาติผ่านการทำฝายชะลอน้ำ

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

    มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดย ส่วนพัฒนานักศึกษา จัดโครงการตามรอยปณิธาน โดยเป็นกิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติและสร้างฝายชะลอน้ำ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2566 ณ วัดพุทธอุทยาน (ดอยอินทรีย์) อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการพัฒนาป่าไม้ (โครงการพระสงฆ์ช่วยงานด้านป่าไม้) ของชุมชนตำบลดอยฮาง นำโดย นายศิโรตม์ พรหมวิหาร รักษาการแทนหัวหน้าส่วนพัฒนานักศึกษา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ส่วนพัฒนานักศึกษา มีนักศึกษาเข้าร่วมกว่า 80 คน โดยเริ่มกิจกรรมที่หอประชุมด้านล่างทางขึ้นวัดฯ พระอาจารย์วิบูลย์ ธรรมะเตโช ที่ปรึกษาเจ้าอาวาสวัดพุทธอุทยาน ให้ธรรมโอวาทเรื่องการปลูกป่าสร้างคน อันเป็นพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้สืบสานและน้อมนำมาเป็นแนวในการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของปวงชนและอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

    จากนั้นนักศึกษาและเจ้าหน้าที่นั่งรถขึ้นเขาไปยังจุดรวมพลเพื่อเตรียมวัสดุอุปกรณ์ในการสร้างฝายชะลอน้ำ โดยมี อาจารย์สุรสิทธิ์ ปุสุรินทร์คำ จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย ผู้เชี่ยวชาญการสร้างฝาย รับหน้าที่เป็นวิทยากร อธิบายความสำคัญของการสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ป่าธรรมชาติ ที่จะช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าจากฤดูน้ำหลากไปจนถึงฤดูแล้ง และการสร้างฝายอย่างถูกวิธีที่เป็นมิตรกับเส้นทางน้ำผ่านและพื้นที่ป่าธรรมชาติ เมื่อมีพื้นที่ชุ่มน้ำก็จะเกิดคุณประโยชน์ต่าง ๆ ต่อเนื่องไป ทั้งสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ผืนป่า ความชุ่มชื้นสร้างแหล่งอาหาร เป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์นานาชนิด รวมถึงเป็นแนวกันไฟป่าอีกทางหนึ่ง ซึ่งนักศึกษาแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม เดินลำเลียงอุปกรณ์ไปยังพื้นที่เป้าหมายระยะทาง 1 กิโลเมตร โดยผ่านเส้นทางป่าธรรมชาติ ตาน้ำ จนไปถึงจุดที่จะทำฝายกั้นบริเวณร่องน้ำไหลผ่าน จากนั้นแต่ละกลุ่มทำการขุดดินเพื่อผสมกับปูนซีเมนต์ ตักใส่ถุงกระสอบ แล้วนำไปเรียงใส่กล่องลวดสานขนาดใหญ่ที่เรียงตัวเป็นโครงสร้างฝายขนาดย่อม

    แม้ว่าอากาศในป่าจะเย็นสบาย แต่ก็เป็นกิจกรรมที่ต้องใช้แรงงานหนัก ทั้งการขุดดิน ผสมปูน ตักดินใส่ถุง ขนถุงดินที่มีน้ำหนักมาก เรียงซ้อนหลายชั้นกว่าจะสร้างเป็นแนวสันฝายได้สำเร็จ ต้องผ่านทั้งความเหนื่อยยาก แข่งกับเวลาที่มีจำกัด ต้องร่วมมือกันหลายฝ่ายหลายหน้าที่ แต่เมื่อทำฝายชะลอน้ำสำเร็จแล้ว ทุกคนก็เห็นผลการทำงานได้ทันทีเมื่อระดับน้ำหน้าฝายเพิ่มสูงขึ้น หลังจากนี้ให้ธรรมชาติได้ทำหน้าที่ต่อ นับเป็นความสำเร็จนอกจากผลงานที่เป็นสิ่งปลูกสร้างแล้ว ยังได้สัมผัสพื้นที่ธรรมชาติ ได้ฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งได้ซึมซับปณิธานของมหาวิทยาลัยได้อย่างชัดเจนในการ “ปลูกป่า..สร้างคน”

.

คลิก ชมภาพเพิ่มเติม

.

  • 1064 ครั้ง
  • #ส่วนพัฒนานักศึกษา #ปลูกป่า สร้างคน