กระทรวง อว. ปลดล็อกหลักสูตร Sandbox มฟล. “หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาผู้นำธุรกิจสุขภาพเชิงสร้างสรรค์” 1 ใน 3 หลักสูตรล่าสุด

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2566 คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ จัดประชุมคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา ครั้งที่ 2/2566 โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธานการประชุม มีวาระที่สำคัญในการร่วมพิจารณาอนุมัติข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์สำหรับการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) หรือหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ หลักสูตรใหม่เพิ่มเติมอีก 3 หลักสูตร ได้แก่ 

1. หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม แขนงพลังงานทดแทนและยานยนต์ไฟฟ้า (ต่อเนื่อง) ของสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา
2. หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการเป็นผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรม ของสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา
3. หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาผู้นำธุรกิจสุขภาพเชิงสร้างสรรค์ ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นหลักสูตรความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ และมหาวิทยาลัยในรูปแบบ Active Cooperation เรียนแบบบูรณาการศาสตร์ จัดการเรียนการสอนแบบ Module-based ศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ประกอบการธุรกิจสุขภาพที่ประเทศจีน มีการค้นคว้าอิสระในรูปแบบการจัดทำและ Pitching แผนธุรกิจเวลเนสที่พร้อมต่อยอดเชิงพาณิชย์และประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการยอมรับในวงการ รวมถึงมีระบบให้คำแนะนำผู้เรียนอย่างต่อเนื่องในรูปแบบ Co-operative Coaching โดยผู้เข้าเรียนจะสามารถจบการศึกษาได้ภายในระยะเวลา 10 เดือน ตั้งเป้าผลิตบัณฑิตที่เป็นผู้นำธุรกิจในอุตสาหกรรมเวลเนส จำนวน 90 คน โดยจะเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกประจำปีการศึกษา 2566 จำนวน 30 คน ในช่วงเดือนสิงหาคม 2566 (สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : สำนักงานบัณฑิตศึกษา มฟล. อีเมล : graduate@mfu.ac.th โทรศัพท์ : 0-5391-6139)

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก กล่าวว่า ในปัจจุบันนวัตกรรมทางการอุดมศึกษาของประเทศไทยเริ่มขยายตัวดีขึ้น โดยอาศัย 2 แนวทางที่กระทรวง อว. สร้างขึ้นมาใหม่ แนวทางแรกคือ การจัดการศึกษาแบบแซนด์บ็อกซ์ ทั้งหลักสูตรที่ได้รับการอนุมัติเป็นหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์แล้ว และหลักสูตรอื่น ๆ ที่มีความน่าสนใจส่งเข้ามาพิจารณาเป็นหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ รวมกว่า 100 หลักสูตร ซึ่งการที่มีคำว่า แซนด์บ็อกซ์ ขึ้นมานั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะสร้างแรงบันดาลใจ และเปิดโอกาสในการทำนวัตกรรมในระดับอุดมศึกษาได้ แนวทางที่สอง คือการจัดตั้งธัชวิทย์ หรือ วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences : TAS) เป็นการนำเอามหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของไทย ที่มีอาจารย์เก่ง ๆ และมีความรู้เชิงทฤษฎีมาจับคู่กับสถาบันวิจัยชั้นนำของประเทศกว่า 10 สถาบัน ที่มีความรู้ ผลงาน อันเกิดจากการทำงานวิจัยและงานสร้างสรรค์จริง ๆ รวมถึงมีเครื่องมือเข้ามาสนับสนุน โดยให้ทั้งสองส่วนมาสนธิกำลังกัน พัฒนาการอุดมศึกษา ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีไปจนถึงระดับปริญญาเอก

“เราได้ปฏิรูปวิธีการจัดการศึกษาวิทยาศาสตร์แบบใหม่ ให้ผู้เรียนได้เรียนในสิ่งที่สนใจ และเรียนอย่างสนุกสนาน ถ้าเป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่สนใจไม่ว่าจะเป็นความรู้ในระดับสูงแค่ไหนก็จะตามไปศึกษาต่อได้เองทั้งหมด เชื่อมโยงกับการทำแซนด์บ็อกซ์ ต้องมองว่าการศึกษารูปแบบใหม่ที่คิดขึ้นมาจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมการอุดมศึกษาได้อย่างไร เราอยู่ในระบบอุดมศึกษาแบบใหม่ ไม่ใช่เน้นแค่การวิจัย แต่จะต้องไปสู่การทำอาชีพได้จริงด้วย” ศาสตราจารย์พิเศษ  ดร.เอนก กล่าว

ขอบคุณเนื้อหาและภาพประกอบจาก : https://www.nxpo.or.th

  • 2567 ครั้ง
  • #สำนักงานบัณฑิตศึกษา