สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จัดโครงการ ‘พัฒนาศักยภาพด้านการสอนสำหรับพยาบาลพี่เลี้ยง’ จัดขึ้นระหว่างวันจันทร์ที่ 22 – 26 พฤษภาคม 2566 ที่ห้องพวงชมพู-พู่ระหง อาคาร E-park มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถในการดูแลการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาพยาบาลตามบทบาทหน้าที่ของพยาบาลพี่เลี้ยง ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากโรงพยาบาลที่นักศึกษาสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้ฝึกปฏิบัติงาน ส่งพยาบาลพี่เลี้ยงเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้จำนวน 59 ท่าน และอาจารย์ใหม่จากสำนักวิชาพยาบาล 4 ท่าน โดยพิธีเปิด มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชมพูนุช โสภาจารีย์ คณบดีสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ เป็นประธานเปิดกิจกรรม
.
กิจกรรมนี้จัดขึ้นจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรม ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงปัญหาสุขภาพ เช่น โรคอุบัติใหม่ ผลกระทบจาก PM 2.5 เป็นต้น การปฏิบัติงานวิชาชีพพยาบาลทั้งในด้านการบริหาร การปฏิบัติงานบริการสุขภาพ การวิจัย รวมถึงการศึกษาพยาบาลจึงจำเป็นต้องพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสุขภาวะที่เกิดขึ้น และสอดคล้องกับปรัชญาการศึกษาของสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ที่มีจุดมุ่งหมายให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการปฏิบัติงานของตนเองในอนาคต
.
การจัดการศึกษาพยาบาลโดยเฉพาะการฝึกปฏิบัติในโรงพยาบาลมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้นักศึกษาสามารถเชื่อมโยงความรู้จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องเหมาะสมตามมาตรฐานการพยาบาล พยาบาลพี่เลี้ยงประจำหอผู้ป่วยจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยสนับสนุน เพิ่มพูนองค์ความรู้ และทักษะการปฏิบัติการพยาบาลแก่นักศึกษาพยาบาล นำสู่การสร้างพยาบาลรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพในการปฏิบัติพยาบาล
.
สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มฟล.จึงจัดโครงการนี้ขึ้นเพื่อส่งเสริมความรู้ ทักษะในการดูแล และนิเทศการฝึกปฏิบัติงาน รวมทั้งร่วมวางแผนกับอาจารย์พยาบาลในการนิเทศการฝึกปฏิบัติของนักศึกษาพยาบาล ตลอดจนเพื่อสร้างเครือข่ายพยาบาลพี่เลี้ยงจากโรงพยาบาลต่างๆ ในการร่วมดูแลและนิเทศนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงด้วย
.
คณบดีสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดกิจกรรมว่า “การศึกษาวิชาพยาบาลในยุคศตวรรษที่ 21 นักศึกษาพยาบาลทุกคนจะได้เรียนรู้เนื้อหาภาคทฤษฎีควบคู่กับการฝึกปฏิบัติการพยาบาลที่เน้นให้นักศึกษาสามารถคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีทักษะการสื่อสาร และมีความใฝ่รู้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง การเตรียมพร้อมให้กับนักศึกษาพยาบาลเพื่อเป็นพยาบาลวิชาชีพที่คุณภาพในอนาคต จึงให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมทั้งภาคทฤษฏี ภาคปฏิบัติในห้องทดลองและการปฏิบัติการพยาบาลในสถานการณ์จริง
.
รวมถึงการเชื่อมโยงทฤษฎีกับสถานการณ์จริงให้นักศึกษาสามารถนำไปปฏิบัติการพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ พยาบาลพี่เลี้ยงในหอผู้ป่วยจึงมีส่วนสำคัญยิ่งที่จะช่วยสนับสนุนการเรียนรู้และทักษะปฏิบัติของนักศึกษาพยาบาลขณะขึ้นฝึกปฏิบัติงาน ในการทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้และทักษะในการปฏิบัติการพยาบาล เป็นแบบอย่างของพยาบาลวิชาชีพที่ปฎิบัติงานอย่างมีคุณธรรมจริยธรรม ใช้องค์ความรู้ในการดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้นักศึกษาพัฒนาทักษะ สร้างทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพ นำสู่การผลิตพยาบาลวิชาชีพที่มีศักยภาพและคุณภาพในการปฏิบัติพยาบาลตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพ”
.
กิจกรรมตลอด 5 วันมีทั้งในการบรรยายและการฝึกปฏิบัติ โดยแบ่งเป็น 4 Module และการฝึกปฏิบัติ ได้แก่ Module ที่ 1 ประเด็นแนวโน้มระบบสุขภาพ และหลักสูตรการศึกษาสาขาพยาบาลศาสตร์ Module ที่ 2 ศาสตร์การสอน Module ที่ 3 ปรัชญาการเรียนรู้ และบทบาทอาจารย์พี่เลี้ยง Module ที่ 4 รูปแบบและวิธีการจัดการเรียนจัดการสอนในคลินิก และการประเมินผลการเรียนรู้ในคลินิก ก่อนจะมีการฝึกปฏิบัติการออกแบบการจัดการเรียนการสอนทางคลินิกแบบแบ่งกลุ่มย่อย