มฟล.เผยผลงาน “ศูนย์นวัตกรรมสมุนไพรครบวงจร” ตั้งปี 62 ถึงปัจจุบัน วิจัยการันตีก่อนเข้าไลน์ผลิต-ปั้นแบรนด์ “เจ้าคุณวัน” ส่งสมุนไพรไทยเข้าทำเนียบได้แล้ว 13 ทะเบียนยา หมอสั่งจ่ายรักษาผู้ป่วยทั้งระดับ รพ.-คลินิก ลดนำเข้ายานอก แถมเคลียร์ปมลูกประคบไทยส่งออกได้ฉลุย
.
ส่วนประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จัดกิจกรรมมวลชนสัมพันธ์พร้อม Show Case ศูนย์นวัตกรรมสมุนไพรครบวงจร เมื่อวันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 9.30 – 13.00 น.ที่ เรือนริมน้ำ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี เป็นประธานเปิดกิจกรรม พร้อมด้วย ดร.พรรณรวี พรหมนารท รองอธิการบดี และดร.พฤกษ์ พุฒจร ผู้ช่วยอธิการบดี พร้อมทั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ระวิวรรณ์ เจริญทรัพย์ หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมสมุนไพรครบวงจร มฟล.ได้นำผู้เกี่ยวข้องเผยถึงผลงานของศูนย์ฯ พร้อมนำเยี่ยมชมโรงเรือนและโรงงานแปรรูปสมุนไพร ว่าได้ก่อตั้งศูนย์มาตั้งแต่ปี 2562 ว่าได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพรไทยเพื่อพัฒนานวัตกรรมให้ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างต่อเนื่อง
.
กระทั่งปี 2566 นี้ได้มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนภายใต้แบรนด์ "เจ้าคุณวัน" ตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร แล้วจำนวน 13 ทะเบียนยา ได้แก่ ยาแคปซูลตรีผลา ใช้บรรเทาอาการท้องผูกและเป็นยาระบายอ่อนๆ, ยาแคปซูลฟ้าทะลายโจร ใช้แก้ไข้, ยาแคปซูลขมิ้นชัน แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ, ยาเขียวชนิดแคปซูล บรรเทาไข้และแก้ร้อนใน
.
ยาบัวบกชนิดแคปซูล แก้ไข้ ร้อนในและช้ำใน, ยาขิงชนิดแคปซูล แก้ท้องอืด ขับลมและจุกเสียด, ยาประสะไพลชนิดแคปซูล, ยาธาตุบรรจบ, ยาชงชมเห็ดเทศ, ยาหม่อง, ยาประคบชนิดสมุนไพรแห้ง, น้ำมันบรรเทาอาการคัดจมูกเนื่องจากหวัด และน้ำมันบรรเทาอาการปวดเมื่อย
.
ผศ.ดร.ระวิวรรณ์กล่าวว่า ประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเหนือมีสมุนไพรที่มีคุณค่าทางยามากมาย แต่ที่ผ่านมาไม่มีผลการวิจัยรองรับ จึงทำให้ไม่มีความมั่นใจในการสั่งจ่ายยาเพื่อการรักษาผู้ป่วยตามโรงพยาบาลต่างๆ ดังนั้นทางศูนย์ฯ จึงได้ศึกษาวิจัยอย่างครบวงจร มีโรงงานที่ได้มาตรฐานภายใน มฟล. มีการรับซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรและนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์
.
กระทั่งปัจจุบันทั้ง 13 ทะเบียนยาได้รับการรับรองจากผลงานการวิจัยและถูกนำไปใช้ในโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มฟล.และบางโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ รวมทั้งระดับคลินิกได้อย่างมั่นใจ ซึ่งจะเป็นการลดการนำเข้ายาบางชนิดจากต่างประเทศด้วย
.
ทั้งนี้ ทางศูนย์ฯ ได้พยายามวิจัยเพื่อสกัดสารจากสมุนไพรต่างๆ ดังกล่าวให้ได้ผลมากที่สุด เช่น ขิง ซึ่งตามปกติจะมีการสกัดออกได้เพียง 5% แต่หลังการวิจัยทางศูนย์สามารถสกัดสารที่จำเป็นออกมาได้ถึง 10% ทำให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น เป็นต้น
.
นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ได้ร่วมกับศูนย์วิจัยพืชสวน จ.เชียงราย วิจัยและพัฒนาการปลูกขมิ้นชันภายในโรงเรือนเพื่อให้ได้ผลผลิตและสารสกัดที่ดี ปัจจุบันใช้สายพันธุ์ตรัง 1 และตรัง 84-2 โดยส่งเสริมให้เกษตรกรกว่า 117 รายปลูกให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดเป็นเวลา 10 เดือน และรับซื้อ ซึ่งในปี 2566 นี้คาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 23 ตัน สามารถนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ใหม่คือ ‘เม็ดฟู่ขมิ้นชัน’ ซึ่งเป็นเม็ดละลายน้ำได้ทันที มีสรรพคุณสร้างภูมิคุ้มกันและใช้ในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพื่อลดอาการข้างเคียงหลังทำคีโมเทอราปี ลดกรดไหลย้อน
.
รวมทั้งได้เร่งวิจัยแก้ปัญหา กรณีเอกชน 3 รายส่งออกผลิตภัณฑ์การนวดประคบไปยังต่างประเทศ แต่พบปัญหาเรื่องวัตถุดิบที่เป็นสมุนไพรเสียง่าย จนสามารถจัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ครีมนวดลูกประคบ ซึ่งอยู่ในหลอดพลาสติกสามารถเก็บรักษาและใช้ได้สะดวก ปัจจุบันถูกส่งออกไปยังต่างประเทศแล้ว และกำลังวิจัยตำรับยามธุรเมหะ ที่ประกอบด้วยสมุนไพรหลายชนิดอีกด้วย
อ่านข่าวเพิ่มเติม
เพจนครเชียงราย https://bit.ly/3kngQfv
Theworldnews.net https://bit.ly/3XW3kx1
mgronline.com https://bit.ly/3xOnO02
จัดให้ มีเดีย https://bit.ly/3xNEjto
SootinClaimon.Com https://bit.ly/3KxGKbg
chiangrainews.net bit.ly/3m10QQQnaewna.com https://bit.ly/3YWf4km
kaokrainews https://bit.ly/3xNhgio
localnews https://bit.ly/3XWS2ZF