มฟล. เปิดนิทรรศการงานพุทธศิลป์สร้างสรรค์ ผลงานผู้เรียนหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม รุ่น 2

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

     มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดย ศูนย์บริการวิชาการ จัดพิธีเปิด นิทรรศการงานพุทธศิลป์สร้างสรรค์ ภายใต้หลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อจัดแสดงผลงานของผู้เรียนในปี 2565 และเพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในปี 2566 โดยได้รับเกียรติจาก รศ. ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี เป็นประธานในพิธี อาจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ ยอดสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ กล่าวรายงาน พร้อมด้วย ดร.ต่อพันธ์ ทันดร รองอธิการบดี ดร.สรบุศย์ รุ่งโรจน์สุวรรณ คณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์ ผศ. ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ ผู้ช่วยอธิการบดี ทั้งยังมีอาจารย์ประจำหลักสูตรและผู้เรียน รวมถึงแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมพิธี โดยผู้สนใจสามารถเข้าชมงานนิทรรศการได้ฟรี จนถึงวันที่ 31 มิถุนายน 2566 เวลา 09.00-17.00 น. ณ อาคารปฐมาคารนุสรณ์ ๒๕๔๒ (M-Square) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

    อาจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ ยอดสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ กล่าวรายงานว่า จุดเริ่มต้นของหลักสูตรระยะสั้นสาขาวิชาพุทธศิลปกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เกิดจากความคิดริเริ่มของผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 3 ท่าน คือ พระเมธีวชิโรดมผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีผู้ก่อตั้งและนายกสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ โดยการสนับสนุนของสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี เจ้าคณะใหญ่หนกลาง กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย และ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

     “การจัดตั้งหลักสูตร มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1.เพื่อทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและให้บริการวิชาการ ตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย 2.เพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยในการสนับสนุนพุทธศิลปกรรม 3.เพื่ออนุรักษ์พุทธศิลปกรรม ให้คงอยู่ตลอดไป 4.เพื่อหยุดยั้งการทำลายพุทธศิลปกรรม ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์”

    “ทั้งนี้ ได้เปิดโอกาสให้กับพระภิกษุ สามเณร ประชาชนผู้สนใจ ได้ศึกษาด้านพุทธศิลปกรรม โดยไม่เสียค่าเล่าเรียน ด้วยความมุ่งมั่น ร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน ทำให้หลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม ดำเนินการจัดการเรียนการสอนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่รุ่นที่ 1 ปี พ.ศ 2564 จนถึงปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการประชาสัมพันธ์การเปิดรับสมัครรุ่นที่ 3 ปี 2566 เพื่อให้พระภิกษุ สามเณร และผู้สนใจด้านพุทธศิลปกรรม โดยไม่จำกัดระดับการศึกษา อายุ และสัญชาติ ผู้ที่จะมีสิทธิ์เข้าศึกษาหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรมนี้ได้ ต้องผ่านกระบวนการการเลือกในการสอบภาคปฏิบัติ การสอบสัมภาษณ์ จากคณะกรรมการโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งจะรับเพียงปีละ 50 รูป/คน เท่านั้น”

   “ในการจัดนิทรรศการภายใต้ชื่องานพุทธศิลป์สร้างสรรค์ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์ศิลปกรรม การจัดการเรียนการสอนในภาคการศึกษาที่ 1/2565 ของผู้เรียนหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม รุ่นที่ 2 ทั้ง 3 ระดับ โดยคัดสรรมาจัดแสดงจำนวน 43 ผลงาน และบางส่วนได้จัดแสดง ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง เพื่อให้เห็นถึงพัฒนาการ ความสามารถของผู้เรียน และความมุ่งมั่นตั้งใจของอาจารย์ผู้สอน ที่ได้ทุ่มเทพัฒนาให้เกิดเป็นผลงานที่มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์เฉพาะตนของผู้เรียนแต่ละคน”

     “นอกจากนี้ นิทรรศการดังกล่าว ยังเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 25 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในปี 2566 นี้ นิทรรศการงานพุทธศิลป์สร้างสรรค์ เปิดให้เยี่ยมชมตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ซึ่งได้รับความสนใจจากนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย ได้เข้ามาเยี่ยมชมอย่างต่อเนื่อง หลังจากนี้จะมีการนำผลงานสร้างสรรค์ทั้งหมด ไปจัดแสดง ณ ไอคอน สยาม ในเดือนสิงหาคม 2561 ต่อไป” อาจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ ยอดสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ กล่าว

    รศ. ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี ประธานในพิธี กล่าวในพิธีเปิดว่า ขอแสดงความชื่นชมยินดีกับหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม ที่ถือว่าเป็นหลักสูตรพิเศษของมหาวิทยาลยัแม่ฟ้าหลวง ที่ได้จัดแสดงนิทรรศการงานพุทธศิลป์สร้างสรรค์ในครั้งนี้

    “หลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม ดิฉันมักจะพูดในหลายโอกาสว่า เป็นหลักสูตรที่เป็น Masterclass Program ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจของบุคคลสำคัญของคนเชียงรายทั้ง 3 ท่าน เริ่มต้นจาก ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพิฒน์ พระเมธีวชิโรดม และอีกท่านหนึ่งคือ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ ซึ่งเป็น 3 ท่านแรกที่มีเป้าประสงค์ตรงกันที่อยากจะก่อตั้งหลักสูตรนี้”

     “ความมุ่งมั่นตั้งใจ ก็คืออยากจะทำให้พุทธศาสน์และศิลปกรรมอยู่คู่กันด้วยความสวยงาม ทรงเกียรติ และทรงภาคภูมิ จึงได้ทำให้เกิดหลักสูตรนี้ ด้วยจุดประสงค์อยากจะให้ทั้งฝ่ายที่เป็นพระสงฆ์และฆราวาส ได้ร่วมมาศึกษาในหลักสูตรพิเศษนี้ อีกท่านหนึ่งที่ต้องขอกล่าวถึง ก็คือเรายังได้รับการสนับสนุนจาก สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี หรือท่านสมเด็จธงชัย และยังมีท่านเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย และผู้มีอุปการคุณอีกหลายท่านที่อยากจะดูแลช่วยเหลือให้หลักสูตรนี้เกิดขึ้น”

    “หลักสูตรพิเศษนี้ ผู้ที่จะได้เรียนต้องเป็นผู้ได้รับการถูกคัดเลือก ด้วยการสัมภาษณ์พิเศษจากผู้ก่อตั้งหลักสูตรและคณาจารย์ประจำหลักสูตรของพุทธศิลปกรรม เพื่อให้ท่านได้เข้าสู่หลักสูตรอันทรงเกียรตินี้ หลักสูตรนี้ไม่มีค่าธรรมเนียมการศึกษา ให้เรียนฟรี ผู้มาสอนก็มาสอนด้วยใจที่เป็นทองที่อยากจะมาร่วมสร้างสรรค์ให้หลักสูตรนี้อยู่อย่างยืนยง สิ่งสำคัญที่สุดในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ต้องขอขอบคุณศูนย์บริการวิชาการ นำโดยผู้อำนวยการ ดร.ณัฐวุฒิ ยอดสุวรรณ และทีมงานของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่ผลักดันให้หลักสูตรนี้เดินหน้ามาจนถึงวันนี้ ซึ่งกำลังเปิดรับรุ่นที่ 3 ในปี 2566”

   “สิ่งสำคัญมาก ๆ ที่เราอยากจะทำให้ได้ ก็คือการที่เราเอาคนเก่งมาสอนคนเก่ง คนที่มาเรียนมีหลายท่านที่เขาเก่งมาก เขาไม่ต้องมาเรียนก็ได้ แต่เขาอยากเป็นลูกศิษย์อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ อยากเป็นลูกศิษย์อาจารย์ทรงเดช ทิพย์ทอง อาจารย์สุวิทย์ ใจป้อม อาจารย์นคร พงษ์น้อย และอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่านที่ให้เกียรติมาสอน รวมทั้งคณาจารย์ประจำหลักสูตรที่เป็นศิลปินเชียงรายด้วย ผู้ที่จะเข้ามาเรียนต้องใช้ความพยายาม ในการผ่านการคัดเลือกจึงจะมีโอกาสเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ในหลักสูตรพุทธศิลปกรรมนี้ จึงต้องใช้คำว่าเป็น Masterclass Program”

    “สิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่เราสร้างสรรค์หลักสูตรนี้ ก็คือผลงานทรงคุณค่าจากคณาจารย์ที่ปลุกปั้นผู้ที่มาเป็นลูกศิษย์ของหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม และยังเหมือนมีตรารับประกันคุณภาพ ด้วยการส่งลผลงานไปร่วมประกวดและได้รับรางวัลในระดับประเทศหลายรายการ ซึ่งเป็นผลงานจากผู้เรียนของหลักสูตรของเรา นับเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นการรับประกันว่าเราได้สอนและเปิดหลักสูตรนี้ที่มีคุณค่าที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง”

   “งานที่นิทรรศาการที่จัดขึ้นครั้งนี้ ณ ปฐมาคารนุสรณ์ ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นอาคารที่ระลึกของกลุ่มอาคารหลังแรกของมหาวิทยาลัย ที่วันนี้เป็นเหมือนแกเลอรี่ที่จะนำเสนอผลงานที่เกิดขึ้นจากความสร้างสรรค์ ระหว่างคณาจารย์และศิษย์ของหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมหนึ่งที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 25 ปีของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในปี 2566”

   “นอกจากจะเข้ามารับชมผลงานต่าง ๆ ได้แล้ว ทุกท่านยังสามารถจับจองเป็นเจ้าของผลงานที่จัดแสดงนี้ได้ ด้วยเรามีกองทุนพุทธศิลปกรรม ที่ได้ดำเนินการกับผลงานเหล่านี้เป็นงานทรัพย์สินทางปัญญาทางด้านนวัตกรรมโดยทั่วไป ก็คือเราจะนำผลงานทุกชิ้นที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของผู้เรียน นำมาจัดแสดงและจัดจำหน่าย โดยผู้เรียนจะเป็นผู้ตั้งราคาผลงานของเขาเอง โดยรายได้จากการจำหน่ายผลงาน ร้อยละ 60 กลับคืนสู่ผู้เรียนของเรา นอกจากเรียนฟรีแล้วยังมีโอกาสในการสร้างรายได้ด้วย และในส่วนร้อยละ 40 จะนำเข้ากองทุนพุทธศิลปกรรมแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อให้การจัดหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรมนี้ อยู่คู่กับมหาวิทยาลัยได้โดยให้หลักสูตรสามารถเลี้ยงตัวเองได้”

    “ดิฉันเชื่อมั่นว่าเป็นสิ่งที่สมประสงค์ผู้ก่อตั้งทุกท่าน ที่ได้ให้การสนับสนุนเงินทุนหลักสูตรอย่างชัดเจนในทุกปี ไม่ว่าจะเป็นท่านอาจารย์เฉลิมชัย พระเมธีวชิโรดม ท่านสมเด็จธงชัย รวมถึงมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงก็ให้ทุนสนับสนุนหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีผู้มีจิตศรัทธาซึ่งให้การบริจาค ซึ่งต่อไปท่านสามารถเลือกซื้อผลงานที่ท่านชื่นชอบและยังถือเป็นเงินบริจาคเข้าหลักสูตรและมหาวิทยาลัยได้อีกด้วย”

    “นิทรรศการงานพุทธศิลป์สร้างสรรค์ ภายใต้หลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงครั้งนี้ นับเป็นผลสำเร็จที่จะก่อให้เกิดประโยชน์เพิ่มพูนในหลากหลายด้าน และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือวัตถุประสงค์ในการรักษาไว้ซึ่งพุทธศาสนาและงานศิลปกรรม ให้ยังคงคุณงามความดีและความสวยงามที่สุด สามารถที่จะรักษาไว้ซึ่งพุทธศาสน์และพุทธศิลป์ ไว้ได้อย่างยั่งยืนและชัดเจน” รศ. ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี กล่าว

.

คลิกชม อัลบัมภาพ พิธีเปิดนิทรรศการ

รายละเอียดเพิ่มเติม Facebook: Buddhist Art MFU

 

  • 926 ครั้ง
  • #อธิการบดี #หลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม (BUDDHIST ART MFU) #ศูนย์บริการวิชาการ