เมื่อวันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปทรงแสดงปาฐกถาพิเศษพระราชทานแก่คณาจารย์และนักศึกษา สำนักวิชาแพทยศาสตร์ สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ และพยาบาลโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นวันที่สอง โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ศุภกร โรจนนินทร์ คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ เฝ้ารับเสด็จ ทรงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ตัวยับยั้งจุดตรวจของภูมิคุ้มกัน" หรือ "Immune Checkpoint Inhibitors" ซึ่งต่อเนื่องจากหัวข้อที่ทรงบรรยายความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ที่สามารถแยกความแตกต่างของเซลล์มะเร็งออกจากเซลล์ปกติในร่างกาย และทำลายทิ้งได้โดยอัตโนมัติ แต่ยังมีเซลล์มะเร็งบางส่วนอาจเกิดการเปลี่ยนแปลง จนสามารถหลบหลีกไม่ถูกกำจัดจากระบบภูมิคุ้มกันได้ และพยายามปรับตัวอยู่ร่วมกับเซลล์ปกติ ซึ่งจะส่งผลให้เซลล์มะเร็งสามารถลุกลามแพร่กระจายตามร่างกายได้อย่างอิสระ ทั้งนี้ กลไกสำคัญเกิดจากโมเลกุลของจุดตรวจภูมิคุ้มกันบนผิวของเซลล์มะเร็ง มีปฏิกิริยากับตัวรับบนเม็ดเลือดขาวชนิด ที-เซลล์ ซึ่งเป็นตัวควบคุมการทำงานของระบบเม็ดเลือดขาว ทำให้ประสิทธิภาพการตรวจความผิดปกติลดลง สำหรับแนวทางการยับยั้งการกดระบบภูมิคุ้มกันโดยใช้ยา ที่เป็น "โมโนโคลนอล แอนตี้บอดี้" ถือเป็นแนวทางใหม่ของการรักษาแบบ "ภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง" ที่จะทำให้เพิ่มการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อเซลล์มะเร็งมากขึ้น
ปัจจุบันมีการพัฒนาหาแนวทางยับยั้งการหลบหลีกของเซลล์มะเร็ง ด้วยการใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน เช่น ยากลุ่มยับยั้งจุดตรวจภูมิคุ้มกัน 2 ชนิดร่วมกัน หรือยากลุ่มยับยั้งจุดตรวจภูมิคุ้มกัน ร่วมกับการรักษาแบบเคมีบำบัด ซึ่งถือเป็นความหวังของโลกยุคใหม่ แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลยืนยันผลการรักษาในระยะยาว นอกจากนี้ แผนการรักษาถือเป็นเรื่องความสำคัญ ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่เป็นเป้าหมาย ตลอดจนขนาดยาที่ใช้ และระยะเวลาของการใช้ยาตามความเหมาะสมของร่างกาย
ชมประมวลภาพได้ที่นี่