เมื่อวันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปทรงเปิดอาคารสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี เฝ้ารับเสด็จ
ในการนี้ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เข้าเฝ้าถวายสูจิบัตร และนายกสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กราบทูลรายงานความเป็นมาการก่อตั้งสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีเจตนารมณ์ในการเสริมสร้างสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่นภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยอย่างยิ่งให้ได้รับบริการทางการแพทย์ที่ดีอย่างเพียงพอ มีคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล จึงได้จัดตั้งสำนักวิชาแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2555 เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์และกระจายแพทย์ไปยังทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย และให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่กำลังเป็นเรื่องท้าทายวิกฤตการณ์จากการเกิดโรคอุบัติใหม่ นอกจากมุ่งหมายที่จะให้สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นแหล่งผลิตแพทย์เพื่อชุมชนแล้ว สำนักวิชาแพทยศาสตร์ยังทำหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์ในพื้นที่ที่มีความขาดแคลน รวมทั้งจะเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาทางการแพทย์ของภูมิภาค ใช้การแพทย์และสาธารณสุขเป็นเครื่องมือในการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านไปในขณะเดียวกัน โดยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงยังคงมุ่งมั่นตามรอยพระราชปณิธานสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงมุ่งหมายจะพัฒนาคุณภาพชีวิต และให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและกว้างขวาง
ต่อมามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้เข้าร่วมโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย ในการนี้จึงได้ขออนุมัติดำเนินการก่อสร้างอาคารสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนการสอนและการวิจัยทางการแพทย์ สำหรับอาจารย์และนักศึกษาแพทย์ให้สามารถผลิตแพทย์ตามเป้าหมายในโครงการดังกล่าว รวมทั้งจะเป็นแหล่งเรียนรู้ ด้านการสอน การค้นคว้าวิจัยทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขในเขตติดต่อชายแดน สร้างองค์ความรู้ด้านการแพทย์ตลอดจนให้บริการทางการแพทย์ขั้นสูง พัฒนาความเชี่ยวชาญในการเรียนการสอนตามมาตรฐานวิชาชีพของแพทยสภาต่อไป
อาคารสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นอาคารสูง 15 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 34,570 ตารางเมตร ภายในอาคารประกอบด้วยห้องปฏิบัติการกายวิภาคศาสตร์ ห้องปฏิบัติการการผ่าตัด ห้องปฏิบัติการพยาธิวิทยา พิพิธภัณฑ์ทางการแพทย์ ห้องสมุด ห้องประชุมกลุ่มย่อย ห้องปฏิบัติการคลอด ห้องปฏิบัติการปรีคลินิก ห้องปฏิบัติการเฉพาะทาง ห้องอเนกประสงค์ ห้องประชุม ห้องสัมมนา สำนักงานบริหารสำนักวิชาแพทยศาสตร์ เป็นต้น
อาคารสำนักวิชาแพทยศาสตร์ ออกแบบโดยบริษัทสถาปนิกหนึ่งร้อยสิบ จำกัด ผู้รับเหมาก่อสร้างคือ บริษัทไทยโพลีคอนส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทอรุณชัยเสรี คอนซัลดิ้ง เอนจิเนียร์ส จำกัด เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง เริ่มลงนามสัญญาก่อสร้างอาคารสำนักวิชาแพทยศาสตร์เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 และส่งมอบงานเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 รวมระยะเวลาการก่อสร้าง 1,111 วัน งบประมาณการก่อสร้าง รวมทั้งสิ้น 774,000,000 บาท
อาคารสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่ออาจารย์และนักศึกษาสำนักวิชาแพทยศาสตร์เพื่อใช้ในการเรียนการสอนและการวิจัยทางการแพทย์ และสาธารณสุขแล้ว ยังรวมถึงบุคลากรหรือนักวิจัยทางการแพทย์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีความร่วมมือในการทำวิจัยทางการแพทย์ร่วมกัน อาทิ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัย Kumamoto ประเทศญี่ปุ่น คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัย Innsbruck ประเทศ
ออสเตรีย คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัย Kunming ประเทศจีน และ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัย Oregon ประเทศสหรัฐอเมริกา กลุ่มแพทย์และบุคลากรของโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลกลาง กรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลสุโขทัย โรงพยาบาลศรีสังรสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย และโรงพยาบาลในจังหวัดเชียงรายประกอบด้วย โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โรงพยาบาลแม่จัน โรงพยาบาลพญาเม็งราย โรงพยาบาลพาน โรงพยาบาลแม่สรวย โรงพยาบาลแม่สาย โรงพยาบาลเชียงแสน โรงพยาบาลเวียงเชียงรุ้ง เป็นต้น
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต และได้รับการรับรองจากแพทยสภา เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556 และได้รับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2556 จำนวน 32 คน โดยกระจายสัดส่วนการรับนักศึกษาในทุกจังหวัด ในเขตภาคเหนือ 17 จังหวัด จังหวัดละ 1 คน ส่วนที่เหลือกระจายการรับไปทั่วประเทศ ในระยะแรกมหาวิทยาลัยได้จัดการเรียนการสอนชั้นปรีคลินิกปีที่ 1 - 3 ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย และในชั้นปีที่ 4 – 6 ณ โรงพยาบาลกลาง และโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ สังกัดกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังมีความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขให้ใช้โรงพยาบาลในสังกัดจังหวัดเชียงราย เช่น โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โรงพยาบาลอำเภอต่าง ๆ เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติให้นักศึกษาแพทย์มีความคุ้นเคยกับสภาพการปฏิบัติงานในชุมชนตั้งแต่ชั้นปีที่ 1
ปัจจุบันสำนักวิชาแพทยศาสตร์ ได้รับนักศึกษาแพทย์มาแล้วทั้งหมด 10 รุ่น จำนวน 336 คน และจบการศึกษาไปแล้ว 4 รุ่น จำนวน 123 คน
ชมประมวลภาพได้ที่นี่