มฟล.จัดประชุมวิชาการ ‘พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน รากฐานนวัตกรรมและพัฒนายั่งยืน’ ครั้งที่ 2

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

              มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดยสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ได้จัดประชุมวิชาการพฤกษศาสตร์พื้นบ้านแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2 ที่ห้องประชุมคำมอกหลวง อาคาร E-Park เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเครือข่ายทางวิชาการด้านพฤกษศาสตร์ และเป็นเวทีในการนำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และถ่ายทอดเทคโนโลยีของนักวิชาการ นักวิจัย ผู้ประกอบการ นักเรียน นักศึกษา ประชาชน รวมถึงหน่วยงานทังภาครัฐและเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเกิดการเรียนรู้ตลอดจนความร่วมมือทางวิชาการ วิชาชีพ และการต่อยอดทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพฤกษศาสตร์พื้นบ้านต่อไป ภายในงานมีทั้งการบรรยายพิเศษในหลายหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน รากฐานนวัตกรรมและพัฒนายั่งยืน โดย รศ.ดร.ชูศรี ไตรสนธิ ผู้บุกเบิกพฤกษศาสตร์พื้นบ้านในประเทศไทย, เขียนโครงร่างวิจัยด้านสมุนไพรอย่างไรให้ได้ทุน โดย ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ เลขานุการคณะกรรมการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นต้น ทั้งยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยทั้งแบบการบรรยาย และแบบโปสเตอร์ ตลอดจนการไปเยี่ยมชมสวนพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งได้รับความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมจากกลุ่มบุคคลต่างๆ หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการหรือนักวิจัย

             ทั้งนี้ รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ รองอธิการบดี ได้กล่าวเปิดงานไว้ว่า “ตลอดระยะเวลา 19 ปีและการก้าวย่างสู่ปีที่ 20 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้ดำเนินกิจกรรมตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการ “ปลูกป่า สร้างคน” โดยมุ่ง “สร้างคน สร้างความรู้ สร้างคุณภาพ และสร้างคุณธรรม” มหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นถึงการพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของพี่น้องภาคเหนือตอนบนตลอดจนประชาคมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 

     มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งโครงการสวนพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาราชา ซึ่งมีภารกิจหลักในการเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ทางพฤกษศาสตร์ในลักษณะที่เป็นอุทยานการศึกษาทางพฤกษศาสตร์ ทำการรวบรวมและสะสมพรรณไม้ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งจัดแสดงพรรณไม้ในรูปแบบของสวนที่แตกต่างกัน ทำการอนุรักษ์และเผยแพร่พืชพรรณไม้ต่าง ๆ ที่หายากของประเทศไทย และในส่วนของสวนสมุนไพรได้มีการเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าเยี่ยมชมศึกษาหาความรู้ของพืชสมุนไพร       จำนวนกว่า 5,000 ต้น 330 ชนิด 

               ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการนำพืชสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ของ พืชสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยความร่วมมือของสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ และสำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง ในการทำวิจัยเกี่ยวกับการสกัดผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ การนำผลิตภัณฑ์ธรรมชาติไปใช้เป็นยา และเครื่องสำอาง มีการวิจัยและพัฒนาจนในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรซึ่งเป็นผลผลิตของงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในนาม ‘เจ้าคุณวัน’ ออกมาจำหน่าย ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

            ทั้งนี้มหาวิทยาลัยยินดีให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา พร้อมจะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและแนวทางปฏิบัติ เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนและพัฒนางานวิจัยด้านพฤกษศาสตร์พื้นบ้านของประเทศไทยให้ก้าวหน้าต่อไป” รองอธิการบดี กล่าว

  • 3045 ครั้ง