มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ให้การต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมวิชาการนานาชาติใน โครงการ DigiHealth-Asia: Capacity Building for Digital Health Monitoring and Care Systems in Asia ระหว่างวันที่ 16-21 มกราคม 2566 ณ ประเทศไทย นำโดย Professor Ingrid Moerman และ Dr. Adnan Shahid จาก Ghent University เบลเยียม โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี มฟล. ให้การต้อนรับ พร้อมด้วย รศ. ดร.นันทนา คชเสนี รองอธิการบดี ผศ. ดร.จุฑามาศ นิวัฒน์ ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรวิศิฏฐ์ เลาหะเพ็ญแสง คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลนีสารสนเทศ ดร. พญ.สุลัคณา น้อยประเสริฐ คณบดีสำนักวิชาการแพทย์บูรณาการ คณาจารย์ ส่วนพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ร่วมให้การต้อนรับ เมื่อวันจันทร์ที่ 16 มกราคม 2566 ณ ห้องประชุมดอยตุง อาคารวันชัย ศิริชนะ มฟล.
ทั้งนี้ โครงการ Erasmus+ DigiHealth-Asia มีเป้าหมายเพื่อสร้างและนำโปรแกรมการศึกษาไปใช้ในการเปลี่ยนแปลงด้านการดูแลสุขภาพแบบดิจิทัล โดยใช้ระบบฝังตัวและแอปพลิเคชัน AI บน IoT เป็นระบบติดตามด้านสุขภาพ ด้วยความร่วมมือของมหาวิทยาลัย 10 แห่ง จากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก โดยในการประชุมที่ประเทศไทยครั้งนี้มีนักวิชาการ นักวิจัย ของสถาบันการศึกษาจากนานาชาติเข้าร่วม ได้แก่ Ghent University เบลเยี่ยม, University of Northumbria at Newcastle สหราชอาณาจักร, University of Huddersfield สหราชอาณาจักร, Université Lumière Lyon 2 ฝรั่งเศส, Mongolian National University of Medical Sciences มองโกเลีย, National University of Mongolia มองโกเลีย, Capital University of Technology ปากีสถาน, National University of Science and Technology ปากีสถาน, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จากประเทศไทย
โดยระหว่างวันที่ 16-17 มกราคม 2566 ได้ร่วมประชุมและศึกษาดูงาน ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับสำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักวิชาการแพทย์บูรณาการ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง จากนั้นจะได้เดินทางต่อไปยังจังหวัดเชียงใหม่
รองศาสตราจารย์ ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี มฟล. ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม ความตอนหนึ่งว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในการต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมใหญ่ของโครงการ Erasmus+ DigiHealth-Asia ในวันนี้ ซึ่งเป็นโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถสำหรับระบบติดตามและดูแลสุขภาพดิจิทัล อันเป็นผลมาจากความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและพันธมิตรในเอเชียและยุโรป ซึ่งมีความตั้งใจที่จะทำงานร่วมกันและแลกเปลี่ยนความรู้เรื่อง Healthcare Monitoring ซึ่งจะมีการรายงานความคืบหน้าและหารือร่วมกันในการประชุมครั้งนี้
“การเข้าร่วมโครงการนี้ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ได้มอบประสบการณ์ที่สำคัญให้กับคณาจารย์และนักศึกษา ของสถาบันเครือข่ายในการทำงานร่วมกัน ก่อให้เกิดความก้าวหน้าที่ประสบความสำเร็จสำหรับโครงการ DigiHealth-Asia ไม่เพียงแต่สำหรับสำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศของเราเท่านั้น การมีส่วนร่วมนี้ยังรวมถึงคณาจารย์ ในสำนักวิชาการแพทย์บูรณาการ และโรงพยาบาลศูนย์การแทพย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง รวมถึงนักวิจัยในส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับความรู้อันล้ำค่าผ่านความร่วมมือระหว่างยุโรปและเอเชียกับโครงการ Erasmus Mundus ภายใต้สหภาพยุโรป ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ DigiHealth-Asia ได้มีการจัดตั้งเครือข่ายทางวิชาการใหม่ระหว่างมหาวิทยาลัย 10 แห่งในสหภาพยุโรปและเอเชีย DigiHealth-Asia Consortium ไม่เพียงแต่สามารถพัฒนาผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมด้วยการทำงานร่วมกันเป็นทีมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความร่วมมือที่ยั่งยืนอีกด้วย เราจะเสริมสร้างความร่วมมือและดำเนินกิจกรรมทางวิชาการที่หลากหลายผ่านโครงการนี้ รวมถึงการแลกเปลี่ยนระหว่างนักศึกษาและคณาจารย์ การวิจัยแบบร่วมมือ การตีพิมพ์ และการออกแบบหลักสูตรใหม่ ฯลฯ เพื่อให้แน่ใจว่าความร่วมมือของเราจะเป็นประโยชน์ร่วมกันและยาวนาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะกระชับความสัมพันธ์ของเราและสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพสูงในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและการเปลี่ยนแปลงด้านการดูแลสุขภาพ ตลอดจนการวิจัยข้ามสาขาวิชาและระหว่างสาขาวิชาและนวัตกรรม ที่จะส่งผลดีต่อสังคมเศรษฐกิจและสังคมของเรา ซึ่งทางมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีความพร้อมรอบด้านและมีสาขาวิชาที่หลากหลาย ไม่เพียงแต่ด้านเทคโนโลยี แต่ยังมีด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และการแพทย์บูรณาการ ที่พร้อมขยายความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต” อธิการบดี มฟล. กล่าว