มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดย ส่วนจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม (MFii) ร่วมกับ ธนาคารออมสินภาค 9 จัดพิธีปิดกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ประจำปี 2565 ภายใต้โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น และนำเสนอผลการดำเนินโครงการย่อยฉบับสมบูรณ์ เพื่อเฟ้นหาตัวแทนไปแข่งขันในระดับประเทศต่อไป ในการนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา วงศ์เกษมจิตต์ รองอธิการบดี มฟล. ให้เกียรติกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม ทั้งยังมีผู้แทนจากธนาคารออมสิน นางสาวปรียาธรณ์ เมืองมา ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสินภาค 9 นายฐากร กันทะบัวตอง ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ดร.ชลิดา ธนินกุลภรณ์ หัวหน้า MFii พร้อมด้วยตัวแทนวิสาหกิจกรรมชุมชน และนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจาก มฟล. เข้าร่วมการนำเสนอโครงการย่อยและพิธีปิดโครงการ เมื่อวันอังคารที่ 18 ตุลาคม 2565 ณ ห้อง M for U อาคาร M-Square มฟล.
ศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา วงศ์เกษมจิตต์ รองอธิการบดี มฟล. กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมว่า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีพันธกิจที่จะส่งเสริมการศึกษาวิจัย เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ ในการพัฒนาชุมชนและสังคม ด้วยความเชื่อมั่นว่าการเสริมสร้างให้ชุมชนและสังคม เข้มแข็งและปลอดภัย เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ให้มีความมั่นคง และมีความมุ่งมั่นในการสืบสานพระราชปณิธานของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการปลูกป่าสร้างคน โดยมุ่งหวังให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นขุมพลังทางปัญญาของสังคม ที่จะเป็นฟันเฟืองสำคัญ ที่จะขับเคลื่อนให้ชุมชนและสังคมมีความเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน”
“สำหรับโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้ตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อก่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามแนวทางของรัฐบาลและธนาคารออมสิน จึงได้มีแนวทางการบูรณาการภูมิปัญญาของท้องถิ่น ร่วมกับวิทยาการสมัยใหม่ของสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างกระบวนการในการเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถของกลุ่มองค์กร ชุมชน กลุ่มโอท็อป และกลุ่มอาชีพ ที่มีศักยภาพให้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีศักยภาพแข่งขันในตลาด มีระบบบริหารจัดการ ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน”
“และประเด็นสำคัญคือ นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จะได้มีความรู้กว้างขวาง ไม่เฉพาะเนื้อหาในบทเรียน สามารถเรียนรู้ผ่านประสบการณ์และทำงานร่วมกับชุมชน เกิดความเข้าใจ หวงแหน และสานต่อเอกลักษณ์และคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่น เกิดกระบวนการการเรียนรู้นอกห้องเรียน”
“สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นในวันนี้เป็นการนำเสนอโครงการย่อยฉบับสมบูรณ์ของนักศึกษา หลังจากได้ดำเนินการพัฒนาร่วมกับกลุ่มชุมชน ภายใต้การดำเนินงานตลอดโครงการและฟังข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากธนาคารออมสิน หน่วยงานภาคี และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถของชุมชน ผลิตภัณฑ์ OTOP และเพิ่มมุมมองประสบการณ์ให้กับนักศึกษา ตลอดจนผลสัมฤทธิ์ในระยะยาว คือชุมชนจะสามารถก้าวเดินต่อไปได้ด้วยตนเอง อย่างมั่นคงและยั่งยืน” รองอธิการบดี มฟล. กล่าว
โดยผลการประกวดการนำเสนอโครงการ มีดังนี้
1. รางวัลชนะเลิศ ทีม What’s up ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกสับปะรดอำเภอเมืองเชียงราย
2. รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ทีม CBT ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวเชิงเกษตรวิถีชุมชน ณ บ้านนอก
3. รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ทีมขะมุขิคิ ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกอ้อยอินทรีย์เชียงรายและสมุนไพร
4. รางวัลชมเชย ทีมพรนับพัน ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวพุทธเกษตรอินทรีย์ บ้านสันป่าเหียง
5. รางวัลชมเชย ทีมคิมิโนโต๊ะ ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวเพื่อสังคมเชียงแสน