เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 ที่ ห้องประชุม ชั้น 5 สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ มีพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)ทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง(มฟล.) กับ สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ(พว.) โดย รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า มฟล.เป็นมหาวิทยาลัยรุ่นใหม่เป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งมั่นตามพระปณิธานของสมเด็จย่า ในการปลูกป่าสร้างคน ดูแลสิ่งแวดล้อม และช่วยเหลือประเทศชาติในด้านต่าง ๆ ซึ่งการสร้างคนของ มฟล.ก็ตรงกับงานของ พว.ที่มีจุดมุ่งหมายในการสร้างให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการศึกษาที่มีมาตรฐานและคุณภาพที่ถึงพร้อม คือพร้อมที่จะทำงานไม่เพียงในประเทศแต่เป็นระดับนานาชาติ ดังนั้นการทำความร่วมมือในวันนี้เชื่อว่าจะช่วยให้การทำงานของทั้งสองสถาบันสามารถดำเนินไปได้อย่างมีคุณภาพและชัดเจน ที่สำคัญจะสามารถร่วมกันสร้างการเรียนรู้สมัยใหม่เพื่อเผยแพร่ออกสู่สังคมอย่างไม่มีข้อจำกัด
.
“การศึกษาจะสะดุดหยุดยั้งไม่ได้ แม้จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 จะทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก แต่การจัดการศึกษายังต้องเดินต่อไป สามารถเรียนได้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นการตอบโจทย์การศึกษาสมัยใหม่ การทำงานร่วมกับ พว.คือ การสนับสนุนการเรียนรู้ทุกด้าน เพื่อสร้างความพร้อมของผู้เรียนแล้วส่งต่อให้ มฟล. และยังจะร่วมกันผลิตสื่อซึ่งจะเป็นอีกมิติหนึ่งในการช่วยเหลือนักเรียนให้เข้าถึงการเรียนรู้กับความทันสมัยในการศึกษาสมัยใหม่ และเปลี่ยนจากการเรียนรู้แบบ Passive Learning เป็น Active Learning ที่ต้องทำทั้งประเทศ”อธิการบดี มฟล.กล่าว
.
ด้าน ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหาร พว. ฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า อนาคตทางการศึกษาของประเทศคงต้องเป็นไปตามบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลก ในศตวรรษที่ 21 มีตัวแปรต่าง ๆ เข้ามามากมาย ทำให้คนต้องมีศักยภาพ โดยเฉพาะด้านการคิดและการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การดำเนินชีวิตอย่างมีศักยภาพบนตรรกะของการมีเหตุมีผล ซึ่งการที่คนจะมีความรู้และความคิดรวบยอดแบบมีหลักการได้จะต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบActive Learning เท่านั้น แต่ถ้ายังเป็นการเรียนรู้แบบเดิมเด็กจะไม่สามารถถักทอสร้างความรู้ได้เอง และเมื่อยังไม่สามารถสร้างความรู้ได้เองก็จะไม่สามารถสรุปองค์ความรู้ออกมาเป็นหลักการได้ ทำให้ไม่มีความคิดรวบยอดในด้านใดได้เลย ดังนั้นความคิดรวบยอดจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะเชื่อมโยงไปสู่หลักการที่จะนำไปสู่การดำเนินชีวิตได้จริง ไปสู่การพัฒนาการทำงานที่มีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นกระบวนการเรียนรู้จะต้องปรับเปลี่ยน
.
“ข้อดีของการเรียนรู้แบบ Active Learning คือ เด็กจะเกิดความเข้าใจหลังจากได้คิดเอง ทำเอง ประเมินเองและสรุปเอง ซึ่งจะสัมพันธ์กับการเรียนรู้ของสมอง ที่จะบันทึกเป็นความจำระยะยาว เพราะสมองส่วนความจำระยะยาวจะต้องทำงานควบคู่กับการปฏิบัติ ฉะนั้นถ้าเราให้เด็กเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติสมองของเด็กก็จะพัฒนา เด็กก็จะเข้าใจ จำได้โดยไม่ต้องท่อง ซึ่งการเข้าใจแบบนี้จะเป็นการเข้าใจแบบลึกซึ้ง ทะลุปรุโปร่งและแตกฉานมากกว่าการท่องโดยไม่รู้ความหมาย”ดร.ศักดิ์สิน กล่าวและว่า สำหรับความร่วมมือกับ มฟล.ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เพราะเป็นที่ทราบดีว่าการขยายผลการพัฒนาทักษะเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนรู้จะต้องขยายไปทั่วประเทศ จึงจำเป็นต้องมีสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่มาช่วยขับเคลื่อนองค์ความรู้ เพื่อร่วมกันสร้างประโยชน์และพัฒนาศักยภาพของเด็กไทยทั้งประเทศ