ในโอกาสนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราโชวาทความว่า
"สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ข้าพเจ้ามาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ประจำปีนี้. ขอแสดงความชื่นชมต่อผู้ทรงคุณวุฒิและบัณฑิตทุกคน ที่ได้รับเกียรติและความสำเร็จ
การดำเนินชีวิตในสังคม เป็นการอยู่ร่วมกับคนหมู่มาก ซึ่งผูกพันกันไว้ด้วยความสัมพันธ์เกี่ยวข้องในรูปแบบต่างๆ และกฎระเบียบของสังคมที่ยึดถือปฏิบัติเป็นอย่างเดียวกัน. ทุกคนที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคม จึงจำเป็นต้องระมัดระวังควบคุมการกระทำ คำพูด และความคิดของตนให้เป็นไปในทางที่ดีที่ถูกต้องอยู่เสมอ เพื่อสร้างสรรค์จรรโลงสังคมให้มีความร่มเย็นเป็นปรกติสุข. การจะระมัดระวังควบคุมการกระทำ คำพูด และความคิด ให้ได้จริงนั้น จะต้องอาศัยสติเป็นเครื่องมือสำคัญ. ไม่ว่าจะกระทำการใด พูดสิ่งใด คิดอะไร คนเราก็ควรจะมีสติกำกับอยู่ทุกเมื่อเพราะหากขาดสติ ก็จะดำเนินชีวิตด้วยความประมาท คิด พูด ทำ ในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่สมควรหรือไม่เป็นไปตามกฎระเบียบและขนบธรรมเนียมอันดีงามของสังคม ส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งที่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายทั้งแก่ตนเองและส่วนรวมอย่างกว้างขวาง. บัณฑิตทั้งหลายกำลังจะออกไปดำเนินชีวิตในสังคมร่วมกับผู้อื่น จึงควรจะได้ฝึกตนให้เป็นผู้มีสติอยู่เป็นปรกตินิสัย และรู้จักใช้สติควบคุมตนเองอยู่เป็นนิจ
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขออวยพรให้บัณฑิตทุกคน และผู้มาร่วมพิธีนี้ทุกท่าน มีความสุขสวัสดีและความเจริญรุ่งเรืองโดยทั่วกัน.
ในการนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารสำนักงานอธิการบดี และได้ทอดพระเนตรนิทรรศการที่มหาวิทยาลัยได้เตรียมไว้ในหัวข้อ ใต้ร่มพระบารมี 2 ทศวรรษ, มฟล.กับการฟื้นฟูชีวิตให้น่าน, เชียงรายเมืองสมุนไพร, และโดยเฉพาะโครงการบริการทางการแพทย์ ซึ่งได้แก่ โครงการทันตกรรมบรมราชชนนี ที่มหาวิทยาลัยได้ออกให้การบำบัดรักษาทางทันตกรรมแบบครบวงจรเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ยากไร้และด้อยโอกาส มีผู้เข้ารับการรักษาตั้งแต่ปี 2555 – 2560 รวม 24,014 ราย และโครงการ หน่วยแพทย์อาสา บรมราชกุมารี มีเนื้อหาให้ข้อมูลว่าโครงการเข้าถึงผู้ป่ายยากไร้ ให้การดูแลรักษาด้วยสหวิชาชีพ ประสานกับชุมชนและองค์กรท้องถิ่น โดยระยะที่ 1 ดำเนินโครงการในชุมชนรอบมหาวิทยาลัย ก่อนขยายพื้นที่จังหวัดเชียงราย ในระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ขยายไปยังจังหวัดภาคเหนือตอนบน โดยเชื่อมโยงการออกหน่วยเข้าสู่การเรียนการสอน
นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการ หนึ่งเจ้าฟ้า สามสายสัมพันธ์ มีเนื้อหาแสดงให้เห็นว่าด้วยบารมีปกเกล้าจึงได้มีศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธรขึ้น โดยใน พ.ศ. 2547 ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนามศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงว่า ‘ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร’ มีภารกิจส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีน เผยแพร่วัฒนธรรมจีน และขับเคลื่อนการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน
ทั้งยังมีนักศึกษาที่มีความพิการทางสายตา จากสำนักวิชาจีนวิทยา น.ส.นันทพร ก้อนรัมย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ได้ร่ายบทกลอนจากหนังสือ ‘หยกใสร่ายคำ’ พระราชนิพนธ์แปลในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในบท ‘ความคิดคำนึงในคืนสงบ’ ผ่านการอ่านจากอักษรเบรลล์ และนายวุฒิชัย แซ่ลี้ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ตอกอักษรเบรลล์ลงบนกระดาษเพื่อถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
โดยรศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดี พร้อมนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหาร คณาจารย์ รวมถึงผู้แทนจากทุกภาคส่วนร่วมพิธีสำคัญโดยพร้อมเพรียงกัน ทั้งยังได้รับเกียรติจาก นายฟู่ เสวียจาง (H.E Mr. Fu Xuezhang) อดีตเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย, นายหลู่ย์ เจี้ยน (H.E Mr. Lyu Jian) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และภริยา นางพาน เผิง (Mrs. Pan Peng) นายเหริน ยี่ เซิง (Mr. Ren Yisheng) กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเชียงใหม่ และคณะ ร่วมตลอดพิธีการ