นางสาวนันทพร ก้อนรัมย์ (อ้อม) ผู้สำเร็จการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) สำนักวิชาจีนวิทยา หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการสอนภาษาจีน (หลักสูตร 5 ปี) ปัจจุบันทำงานที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ กทม. ในตำแหน่งครูผู้ช่วย เตรียมเข้าพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2562 ในวันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ โดยเข้าเรียนที่ มฟล. ในโครงการรับผู้พิการเข้าศึกษา ปีการศึกษา 2558 นับเป็นผู้พิการทางสายตาคนแรกของไทยที่เรียนภาษาจีนโดยใช้สื่อการเรียนการสอนเป็นอักษรเบรลล์จีน และยังเป็นผู้ที่ทำให้เกิดตำราเรียนที่เป็นอักษรเบรลล์จีนเล่มแรกในประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือของสำนักวิชาจีนวิทยา และหน่วยให้บริการสนับสนุนนักศึกษาพิเศษ มฟล. (MFU DSS) รวมทั้งการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย
ในโอกาสที่นางสาวนันทพร ก้อนรัมย์ จะเข้าพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ทางสื่อมวลชนหลายแขนงได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ทางส่วนพัฒนานักศึกษา มฟล. จึงได้จัดงานแถลงข่าวขนาดย่อมเพื่อเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้สัมภาษณ์ในประเด็นต่าง ๆ ทั้งกับนางสาวนันทพร อาจารย์ผู้สอน รวมทั้งหน่วยงานสนันสนุน DSS โดยมี อาจารย์ ดร.พฤทธิ์ พุฒจร ผู้ช่วยอธิการบดี และรักษาการแทนหัวหน้าส่วนประชาสัมพันธ์ มฟล. เป็นผู้ดำเนินการการสัมภาษณ์ออนไลน์ผ่าน Zoom meeting ทั้งนี้ ได้ถอดบทสัมภาษณ์ออกมาเป็นบางส่วน ดังนี้
นางสาวนันทพร ก้อนรัมย์ เล่าว่า เมื่อครั้งเรียนในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เธอเรียนอยู่ที่โรงเรียนการศึกษาคนตาบอด ขอนแก่น (โรงเรียนประจำ) ที่สอนการใช้อักษรเบรลล์ รวมถึงสอนการใช้ชีวิตประจำวันสำหรับผู้พิการทางสายตา และเมื่อจะเรียนต่อในระดับมัธศึกษาตอนปลาย มีผู้แนะนำให้เธอเรียนต่อทางด้านภาษาจีน ซึ่งเธอมีความสนใจทางด้านภาษาอยู่แล้ว จึงได้ตัดสินใจเรียนต่อที่โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย จ.ขอนแก่น ซึ่งเปิดหลักสูตรภาษาจีนเป็นปีแรกในตอนนั้น
“เมื่อจะเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ก็ได้สืบค้นข้อมูลว่ามหาวิทยาลัยไหนที่เปิดรับคนตาบอดบ้าง ก็ได้พบข้อมูลว่าที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีสาขาวิชาที่น่าสนใจก็คือ การสอนภาษาจีน ด้วยความที่อยากเป็นครูอยู่แล้ว ก็เลยเลือกเรียนต่อที่นี่ นอกความชอบส่วนตัวที่ชอบภาษาจีนแล้ว ยังมองว่าอยากเปิดโอกาสให้น้อง ๆ รุ่นต่อ ๆ ไปที่เขาอยากจะเรียนต่อ ได้มีทางเลือกในสาขาวิชาที่หลากหลายขึ้น นอกจากสาขายอดนิยมของคนตาบอดอย่างนิติศาสตร์ หรือรัฐศาสตร์ ถ้าเราเรียนได้และจบการศึกษาได้ ก็น่าจะเป็นแรงบันดาลทำให้น้องๆ มีความกล้ามากขึ้น กล้าที่จะเลือกเรียนอะไรที่แตกต่างออกไป รวมถึงถ้าเราเรียนจบการสอนภาษาจีน เราก็อยากเป็นครูสอนภาษาจีนให้กับน้องๆ คนตาบอดด้วย”
เมื่อถามว่า เมื่อเดินทางมาเรียนที่ มฟล. ต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง และทางครอบครัวว่าอย่างไร นันทพรกล่าวว่า ทางครอบครัวค่อนข้างเปิดกว้างและให้โอกาสเลือกเรียนต่อตามที่ตนเองสนใจ และเมื่อเดินทางมายัง จ.เชียงราย เพื่อศึกษาต่อที่ มฟล. ก็ไม่ได้มีอุปสรรคในการใช้ชีวิตแต่อย่างใด
“บรรยากาศในการเรียนค่อนข้างดี เพื่อน ๆ และอาจารย์ ทุกคนให้ความช่วยเหลือดีมาก สิ่งอำนวยความสะดวกในมหาวิทยาลัยก็ค่อนข้างที่จะพร้อมสำหรับเรา มีร้านค้า มีร้านอาหาร มีหอพัก และมีรูมเมทคอยช่วยเหลือ ช่วยอำนวยความสะดวก พาไปนั่นไปนี่ ไม่ได้มีปัญหาในการใช้ชีวิต แต่จะมีอุปสรรคนิด ๆ หน่อย ๆ เช่นในช่วงแรก ๆ เรื่องหนังสือเรียน เรื่องสื่อการเรียนการสอนบ้าง แต่ก็มีเพื่อนและอาจารย์ช่วยตลอด เราบกพร่องตรงไหน ไม่ทันตรงไหน ทุกคนก็คอยช่วยเหลือเป็นอย่างดี และทางมหาวิทยาลัยก็ยังได้สนับสนุนทุนการศึกษาอีกด้วย”
ทางด้าน อาจารย์ถิรายุ อินทร์แปลง ประธานสาขาวิชาการสอนภาษาจีน สำนักวิชาจีนวิทยา มฟล. กล่าวถึงช่วงเริ่มต้นที่รับนางสาวนันทพร ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีนักศึกษาที่มีความต้องการพิเศษเข้ามาเรียน
“ยอมรับว่าเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับคณาจารย์ในสำนักวิชา ซึ่งเราได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเป็นอย่างดี ในการจัดหาสื่อ อุปกรณ์การเรียนการสอน เช่น เครื่องพิมพ์เบรลล์ เพราะว่าภาษาจีนเป็นภาษาอักษรภาพ ซึ่งทำเป็นอักษรเบลล์ได้ค่อนข้างยาก รวมทั้งคณบดีท่านเดิมและคณบดีท่านปัจจุบันก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ โดยการสนับสนุนในการจัดตั้งคณะทำงานพิเศษ เพื่อมาดูแลนักศึกษาที่มีความต้องการพิเศษทุกอย่าง ทั้งทางด้านสายตา ทางด้านร่างกาย และปัจจุบันทางสำนักวิชาก็เปิดรับนักศึกษาที่มีความต้องการพิเศษมากขึ้น และล่าสุดทางสำนักวิชาเราได้ร่วมมือกับหน่วยงาน DSS ในสังกัดส่วนพัฒนานักศึกษาของมหาวิทยาลัย ได้จัดทำตำราที่เป็นอักษรเบรลล์จีน เป็นมหาวิทยาลัยแรกๆ ของประเทศไทยที่มีหนังสือเรียนที่เป็นอักษรเบรลล์จีน ทำให้การจัดการเรียนการสอนภาษาจีนให้แก่นักศึกษาที่มีความต้องการพิเศษ มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็ถือว่าเป็นผลงานที่ภาคภูมิใจของสำนักวิชาจีนวิทยา” อ.ถิรายุ อินทร์แปลง กล่าว
นางสาวปิยรัตน์ ธรรมโชคมงคล เจ้าหน้าที่หน่วยให้บริการสนับสนุนนักศึกษาพิเศษ หรือ DSS ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหน่วยงานว่า เป็นหน่วยงานที่ดูแลนักศึกษาพิการทุกประเภทของทางมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
“แต่เดิมนั้น ทางมหาวิทยาลัยยังไม่มีหน่วยงานเฉพาะที่ดูแลนักศึกษาพิเศษ น้องอ้อมถือเป็นนักศึกษาคนแรก ๆ ที่ทำให้มีการจัดตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมา ในการให้ความช่วยเหลือนักศึกษาพิการทุกประเภท และสำหรับการสนับสนุนการเรียนของน้องอ้อมก็ถือเป็นโจทย์ที่ยากมาก เพราะสมัยนั้นยังไม่มีตำราเรียนที่เป็นอักษรเบรลล์จีนในประเทศไทย เราได้ร่วมมือกับทางสำนักวิชาจีนวิทยา ในการจัดทำหนังสือเรียนให้น้องอ้อม ร่วมกับอาจารย์นพเก้า แซ่เขา โดยเริ่มต้นจากการทำเป็นภาษาคาราโอเกะ ใช้เบรลล์ตัวอักษรภาษาอังกฤษสะกดเป็นคำอ่านภาษาจีน ทีละคำ พยายามสอนน้องให้ได้ตามมาตรฐานที่สุด จนกระทั่งเราได้เครื่องพิมพ์อักษรเบรลล์จีน จึงได้เริ่มทำตำราเป็นอักษรเบรลล์จีน น้องอ้อมถือเป็นรุ่นบุกเบิกที่ได้ใช้ตำราอักษรเบรลล์จีนนี้จนจบหลักสูตร” นางสาวปิยรัตน์ กล่าว
ด้านอาจารย์นพเก้า แซ่เขา หรือ เหล่าซือเก้า อาจารย์ประจำสำนักวิชาจีนวิทยา มฟล. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
“เริ่มแรกสอนน้องอ้อมโดยการใช้อักษรเบรลล์ภาษาอังกฤษ การเรียนในช่วงแรกก็จะเป็นแบบนั้น นับเป็นปัญหาและอุปสรรคอย่างมาก เพราะด้วยไม่มีตำรา ผู้สอนต้องทำตำราเอง ซึ่งก็มีนักศึกษามาช่วยในเรื่องของการแปลงภาษาจีนเป็นโค้ดที่เราคิดขึ้นมาเอง มีเพื่อนๆ และรุ่นพี่ของเขามาช่วยกันพิมพ์ แล้วก็ส่งข้อมูลให้ DSS ช่วยเราทำออกมาเป็นหนังสือ แล้วทาง DSS ก็หาข้อมูลมาให้ว่า จะหาโค้ดเบรลล์จีนได้จากที่ไหน อย่างแบบเรียนแรกที่เราทำให้น้องอ้อมเรียนรู้โค้ดเบรลล์จีน ตั้งใจว่าจะสอน 1 สัปดาห์ แต่น้องอ้อมใช้เวลาเรียนรู้เรื่องโค้ดพยัญชนะแค่ 2 ชั่วโมง สระอีก 2 ชั่วโมง เพราะเขามีความรู้เรื่องภาษาจีนอยู่แล้ว ก็เลยเรียนโค้ดเบรลล์จีนได้ภายใน 4 ชั่วโมง นับว่าเร็วมาก เมื่อเข้าใจโค้ดหมดแล้วจากนั้นก็ง่ายในการทำงานของเรา ก็แค่ส่งภาษาจีนให้ทาง DSS แล้วทาง DSS ก็พิมพ์ออกมาทั้งหมดเป็นโค้ดเบรลล์จีน ตรวจดูความถูกต้องนิดหน่อย น้องอ้อมจึงมีตำราใช้จากนั้นเป็นต้นมา” อาจารย์นพเก้า กล่าว
อาจารย์นพเก้า เล่าต่อว่า อีกความยาก ก็คือ อาจารย์แต่ละท่านก็ใช้สื่อการสอนหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันไป ซึ่งอาจารย์แต่ละท่านก็ช่วยกันปรับ และทำแบบเรียนออกมาในรูปแบบของคำ เพื่อที่จะสามารถนำไปพิมพ์เป็นโค้ดเบรลล์จีนได้
“น้องอ้อมเป็นคนน่ารัก เขาเป็นที่รักของเพื่อนๆ อยู่แล้ว จึงไม่ได้มีปัญหาอุปสรรคอะไรกับการเรียนในห้อง เพียงแต่ว่าอาจารย์ผู้สอนต้องปรับตัว เวลาเราทำอะไรในห้องก็ต้องบรรยายออกมาทุกอย่าง เพื่อน ๆ ในห้องก็ต้องเข้าใจ เพื่อที่เราจะสื่อสารให้อ้อมเข้าใจได้ด้วยว่า เรากำลังพูดถึงอะไร พูดถึงหน้าไหน กำลังจะเปลี่ยนสไลด์นะ เพื่อที่ว่าเราจะได้เรียนไปพร้อมกันทุกคน และอาจมีอุปสรรคในช่วงแรกในเรื่องการสอบ เพราะเราต้องแยกห้องสอบ เขาต้องใช้เวลาในการทำข้อสอบมากกว่าเพื่อน ช่วงแรกเราต้องอาศัยการอ่านให้เขาฟังในการทำข้อสอบ ช่วงหลัง ๆ พอได้เครื่องพิมพ์เบรลล์มาช่วย ทุกอย่างก็ง่ายขึ้น ถึงปัจจุบันอาจารย์ทุกท่านในสำนักวิชา ก็มีความเข้าใจและมีความพร้อมมากขึ้น ที่จะรับนักศึกษาที่ความต้องการพิเศษ” อาจารย์พนเก้า กล่าวเสริม
ต่อมาเป็นคำถามจากสื่อมวลชน ว่าอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้นันทพรเลือกเรียนภาษาจีน ทั้งที่เป็นภาษาที่ยาก นันทพร กล่าวว่า เป็นความสนใจส่วนตัวในการเรียนเกี่ยวกับภาษา ด้วยภาษาจีนเป็นอีกภาษาที่น่าสนใจ และยังมีวัฒนธรรมที่สวยงาม
“อีกเรื่องที่เป็นแรงฮึดให้เราอยากเรียนให้สำเร็จ ก็คือ ได้รับคำสบประมาทของคนอื่น ๆ ที่เขาพูดว่า เธอจะเรียนภาษาจีน เธอจะเรียนได้ยังไง มันยากนะ มีตัวอักษรเป็นพัน ๆ ตัว จะเรียนรอดหรือ มันทำให้เรารู้สึกฮึดขึ้นมา ถ้าวันหนึ่งเราทำได้ คำพูดหรือความคิดของเขาจะเปลี่ยนไป และอีกอย่างคืออยากเป็นแนวทางให้กับน้อง ๆ คนพิการ ไม่ใช่แค่เฉพาะตัวหนู ไม่ใช่แค่คนพิการ คืออยากให้ทุก ๆ คน มองสิ่งใหม่ ๆ เปิดโลกใหม่ ๆ ว่าปัจจุบันคนทุกคนมีความเท่าเทียมกัน สามารถทำอะไรได้ไม่แตกต่างกัน แต่ว่าคนพิการทางสายตา เขาอาจจะมองไม่เห็น แต่ปากมือเท้าเขายังใช้ได้ คนเรามีความสามารถของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อยู่ที่ใจตัวเอง ก็เลยอยากทำให้ได้ เพื่อเปิดมุมมองเปิดทัศนคติใหม่ ๆ ให้กับบางคน ที่เขาอาจจะมองคนพิการในมุมที่อาจจะไม่กว้าง วันนี้ถือว่าตัวเองประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง ที่สามารถเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้กับสังคมได้รับรู้ความสามารถของคนพิการ”
อีกหนึ่งคำถามคือ เมื่อมาเป็นครู แตกต่างจากการเป็นผู้เรียนอย่างไรบ้าง นันทพร ตอบว่า เหมือนได้เห็นตัวเองตอนที่เป็นเด็กนักเรียน
“คุณครูของอ้อมเคยบอกว่า ระวังไว้นะถ้าเธอไปเป็นครูแล้วกรรมจะตามสนอง เพราะว่าในตอนที่เราเป็นเด็กนักเรียนที่โรงเรียนสอนคนตาบอด เราก็เป็นเด็กที่ดื้อบ้าง ซนบ้าง ไม่เชื่อฟังครูบ้าง จนตอนที่เรามาเป็นครูก็เชื่อแล้วว่ากรรมตามสนองจริง ๆ เพราะว่าได้เจอนักเรียนทุกรูปแบบ เจอทั้งเด็กที่ตั้งใจเรียน เจอทั้งเด็กที่ดื้อ ตอนเราเป็นนักเรียน เราเรียนเสร็จก็กลับบ้าน พอมาเป็นครู ไม่ใช่ว่าเราสอนเสร็จแล้วก็กลับบ้าน แต่เราต้องดูแลนักเรียนมากกว่าแค่ที่อยู่ในห้องเรียน เพราะว่าสอนตั้งแต่เด็กเล็กชั้นอนุบาล บางคนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย เพราะยังไม่ได้รับการฝึกการช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวัน เราต้องเริ่มสอนใหม่หมดทุกอย่าง เราไม่ใช่แค่สอนไปวัน ๆ แต่ถ้าเด็กมีปัญหาอะไร เราต้องดูพฤติกรรม ดูความพร้อมของเด็กด้วยว่า เขาขาดหรือบกพร่องในด้านไหน เราต้องเสริมและทำให้เขาให้พร้อมมากที่สุด”
นันทพร กล่าวในช่วงท้ายถึงการให้โอกาสผู้พิการว่า ไม่ใช่เฉพาะผู้พิการทางสายตา แต่ทุกประเภท ทุกคนมีความสามารถ อยากให้ทางมหาวิทยาลัยต่าง ๆ หรือว่าบริษัท หลาย ๆ บริษัท ลองเปิดโอกาสเปิดรับคนพิการที่เขายังไม่มีงานทำ เพราะว่าบางคนมีความสามารถ ทั้งในการเรียนหรือการทำงาน แต่อาจจะไม่ได้รับโอกาส อยากจะให้ลองเปิดโอกาสและลองทดสอบความสามารถและศักยภาพของเขาเหล่านั้นก่อน อย่างเช่น มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ก็เป็นอีกทางเลือกสำหรับนักศึกษาผู้พิการในหลายประเภทสามารถสอบเข้ามาเรียนได้
“อยากจะให้กำลังใจน้อง ๆ และทุกคนที่กำลังมีความทุกข์ อย่าเพิ่งคิดว่าเป็นทางตัน อ้อมเคยพูดไว้เสมอว่า อย่ารอให้คนอื่นป้อนโอกาสให้เรา แต่เราต้องค้นหาโอกาส และให้โอกาสตัวเองด้วย เราจึงจะประสบผลสำเร็จ อยากให้สู้ ๆ ขอบคุณค่ะ”
…….
หมายเหตุ : ปัจจุบัน นางสาวนันทพร ก้อนรัมย์ (อ้อม) ทำงานที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ในตำแหน่งครูผู้ช่วย ภายใต้มาตรา 33 ในสังกัด บริษัท ทีอาร์บี เชอร์เม็ดดิก้า (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเกี่ยวกับเครื่องมือทางการแพทย์ โดยน้องอ้อมได้ผ่านการทดสอบความสามารถ รวมทั้งการมีใบประกอบวิชาชีพครู จากการสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต (สาขาวิชาการสอนภาษาจีน) สำนักวิชาจีนวิทยา มฟล.