มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผนึกกำลัง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ พัฒนาผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์อาหารประยุกต์ใช้จริงในอุตสาหกรรมและผลิตสู่ผู้บริโภค นำร่องผลิตบัณฑิตรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญ ในสาขาวิชานวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร ผ่านการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาร่วมระหว่างสำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตรและศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารของซีพีเอฟ ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของไทย สร้างโอกาสในการแข่งขันระดับสากล
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 รองศาสตราจารย์ ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ และ ดร.สมหมาย เตชะศิรินุกูล รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ซีพีเอฟ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการผลิตบัณฑิต (MOA) กับ รองศาสตราจารย์ ดร.สาโรจน์ รอดคืน คณบดีสำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร มฟล. โดยมี ศ.ดร.สุจิตรา วงศ์เกษมจิตต์ รองอธิการบดี มฟล. และ นางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล เครือซีพี-ซีพีเอฟ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ อาคารซี.พี.ทาวเวอร์ สีลม
ความร่วมมือในครั้งนี้ มีเป้าหมายผลักดันผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์อาหาร สู่การนำผลวิจัยไปประยุกต์ใช้จริงในเชิงอุตสาหกรรม และผลิตบัณฑิตระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท) รองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ภายใต้กรอบความร่วมมือ 3 ด้าน คือ การสนับสนุนงานวิจัย พัฒนาหลักสูตรการศึกษาร่วม และสนับสนุนโครงการและกิจกรรม อาทิ โครงการ CPF Young Software Developer Program สร้างประสบการณ์จริงให้นักศึกษาด้าน IT ด้วยการรับโจทย์ธุรกิจจริงไปฝึกแก้ไขปัญหา โครงการ CPF in Your Area นำธุรกิจเข้าไปยังสถาบัน เพื่อให้นักศึกษาทดลองเป็นผู้ประกอบการจริง เป็นต้น
รองศาสตราจารย์ ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า มฟล. มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตที่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานและภาคอุตสาหกรรม ครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีในการร่วมมือกับซีพีเอฟซึ่งถือเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก เพื่อยกระดับและพัฒนางานวิจัย รวมถึงพัฒนาหลักสูตรในระดับปริญญาโท สาขานวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร นับเป็นการก้าวกระโดดของวงการศึกษา ที่จะได้เติบโตไปพร้อมกับภาคธุรกิจ นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดกว้างด้านวิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่นักวิจัยและนักศึกษาต่อการผลิตนวัตกรรมอาหารที่ดีมีคุณภาพสูงขึ้น ร่วมสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคม เศรษฐกิจของประเทศไทยไปด้วยกัน
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟเป็นบริษัทชั้นนำในด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจรที่มีวิสัยทัศน์สู่การเป็น “ครัวของโลก” มุ่งมั่นส่งมอบผลิตภัณฑ์คุณภาพ ทั้งด้านคุณค่าทางโภชนาการ ความปลอดภัย และรสชาติที่ดี ให้แก่ผู้บริโภคทั่วทุกมุมโลก โดยมีศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีความเป็นเลิศด้านงานวิจัย จึงนับเป็นโอกาสดีของความร่วมมือผนวกองค์ความรู้และประสบการณ์ของภาคเอกชนเข้ากับแนวทางสร้างสรรค์นักวิจัยของภาคการศึกษา ซึ่งจะได้เห็นผลงานวิจัยเชิงวิชาการสู่การปฏิบัติจริงได้อย่างเป็นรูปธรรม เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาศักยภาพนักศึกษา ให้มีสนามจริงฝึกประสบการณ์ และสำเร็จการศึกษาออกมาเป็นบุคลากรคุณภาพของวงการวิทยาศาสตร์อาหารของไทย สอดคล้องกับ ดำริของท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ ที่ต้องการดึงศักยภาพของคนรุ่นใหม่ ให้เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป
ด้าน ดร.สมหมาย เตชะศิรินุกูล รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ซีพีเอฟ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจับมือระหว่าง ซีพีเอฟ และ มฟล. ในวันนี้จะช่วยส่งต่อให้งานวิจัยของนักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์อาหาร ได้ถูกนำออกจากประตูห้องปฏิบัติการ เข้าสู่กระบวนการพัฒนาสินค้า และผลิตออกมาสู่ผู้บริโภคได้จริง เป็นผลงานให้ทั้งนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารของซีพีเอฟ ภาคภูมิใจร่วมกัน บริษัทฯ หวังที่จะมีส่วนช่วยยกระดับคนรุ่นใหม่ ให้มีทักษะและความรู้ที่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน และสามารถเป็นกำลังสำคัญรวมผลักดันประเทศได้ในอนาคต
ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร. สาโรจน์ รอดคืน คณบดีสำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร กล่าวถึงการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการผลิตบัณฑิต (MOA) ร่วมกับซีพีเอฟว่า งานวิจัยเป้าหมายที่สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตรต้องการผลักดันและขับเคลื่อนคือ ยกระดับงานวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อมุ่งสู่ตลาดโลก มุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจ รวมทั้งการสร้างองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม การผนึกกำลังของทั้งสองฝ่าย จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันให้เกิดงานวิจัยที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงกับเทรนด์อาหารโลกและตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง พัฒนาการเกษตรและอาหารของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็ง และสร้างโอกาสในการแข่งขันในระดับสากลอย่างมีประสิทธิภาพ