เมื่อวันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม 2564 สถาบันพุทธศิลปกรรมแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และ ศูนย์บริการวิชาการ มฟล. จัดกิจกรรมการเรียนรู้นอกสถานที่ หลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม มฟล. โดยเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของหลักสูตรฯ โดยในช่วงเช้าเป็นการทัศนศึกษาเกี่ยวกับงานศิลปะที่สำคัญในจังหวัดเชียงราย เช่น บ้านดอยดินแดง (Doy Din Dang Pottery) ของ อาจารย์สมลักณษ์ ปันติบุญ ศิลปินปั้นดิน, เยี่ยมชมวิหารของวัดป่าอ้อร่มเย็น, แกลเลอรีของอาจารย์เสงี่ยม ยารังษี ศิลปินเชียงราย และนิทรรศการผลงานศิลปะของศิลปินเชียงราย ณ ขัวศิลปะ สำหรับในช่วงบ่ายเป็นการนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ศิลปกรรมต่อ พระเมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี) พระอาจารย์กิตติมศักดิ์ของหลักสูตร โดยมี รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี มฟล. พร้อมด้วยผู้บริหาร ทั้งยังมี นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และภริยา ได้เข้ากราบนมัสการและให้การต้อบรับ และร่วมชมการนำเสนอผลงานผู้เรียนในหลักสูตรทั้ง 3 ระดับ ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มฟล. ทั้งนี้ พระเมธีรวชิโรดมยังได้ถ่ายทอดสดกิจกรรมผ่านเฟซบุ้กเพจ พระเมธีวชิโรดม - ว.วชิรเมธี ในรายการ อารามออนไลน์ อีกด้วย
วันที่ 2 ของกิจกรรม ในวันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม 2564 สำหรับช่วงเช้านั้นผู้เรียนหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม มฟล. ได้เดินทางไปเยี่ยมชมวัดร่องขุ่นในส่วนต่างๆ เช่น โรงปั้น หอศิลป์แทนคุณ และเข้ารับฟังบรรยาย “รายวิชาศิลปวิจารณ์” โดย ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย ฆิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ผู้รังสรรค์วัดร่องขุ่น หลังบรรยายเสร็จสิ้นยังเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ถามคำถามเกี่ยวกับแนวคิดการสร้างงานศิลปะ การดูแลรักษาชิ้นงาน รวมถึงที่มาที่ไปและอนาคตของวัดร่องขุ่น ซึ่งศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย ได้ตอบทุกคำถาม ทั้งยังกล่าวถึงการสร้างหอศิลป์เชียงราย เพื่อเป็นพื้นที่ศิลปะถาวรให้แก่ศิลปินเชียงราย
จากนั้นในช่วงบ่าย ได้เดินทางต่อไปยังอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง หรือ ไร่แม่ฟ้าหลวง เพื่อรับฟังบรรยาย “รายวิชาอนุรักษ์ศิลปกรรม” โดย อาจารย์นคร พงษ์น้อย ผู้อำนวยการอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง ซึ่งได้มอบหมายให้ผู้เรียนได้นำงานศิลปะที่ตนเองประทับใจมานำเสนอในชั้นเรียนพิเศษนี้ จากนั้นได้เปิดโอกาสให้ผู้เรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมทัศนศึกษาศิลปะนอกสถานที่ได้เข้าเยี่ยมชมหอศิลปะในส่วนต่างๆ ของไร่แม่ฟ้าหลวง ซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นคือโดยมากเป็นชิ้นงานที่ทำจากไม้ คือ หอคำหลวง หอแก้ว และหอคำน้อย โดยในช่วงท้ายอาจารย์นครได้ให้ผู้เรียนถามคำถาม นอกจากได้ทราบที่มาที่ไปของไร่แม่ฟ้าหลวง แนวทางการดูแลรักษางานศิลปะเก่าแก่แล้ว ยังเป็นสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานและปลูกฝังแนวคิดในการอนุรักษ์งานพุทธศิลป์ของไทยอีกด้วย