เมื่อวันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม 2564 รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) บันทึกวีดิทัศน์เพื่อใช้ประกอบพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ระหว่างกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ร่วมกับ สถาบันการศึกษา หน่วยงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง จำนวน 71 แห่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมและเผยแพร่ ผลงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการด้านงานวิชาการ วิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก การส่งเสริมและคุ้มครองทางสังคม การออกแบบเพื่อคนทุกคน (Universal Design) โดยจะมีการจัดการสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2564 ในวันศุกร์ที่ 10 กันยายน 2564 ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
โดย มฟล. มีความพร้อมในการดูแลนักศึกษาพิการ โดยเปิดโอกาสให้เข้าศึกษาได้ในหลายหลักสูตร และยังมี หน่วยให้บริการสนับสนุนนักศึกษาพิเศษ (Disability Support Services - DSS) สังกัดส่วนพัฒนานักศึกษา เป็นหน่วยงานที่ดำเนินงาน ให้การดูแล ให้คำปรึกษา และสนับสนุนช่วยเหลือในทุกด้านสำหรับนักศึกษาพิเศษที่ทำการศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ ความร่วมมือในส่วนของสถาบันการศึกษา มีขอบข่ายการดำเนินงาน คือ
1. บูรณาการและประสานความร่วมมือกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในการพัฒนาเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
2. ศึกษาพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้งานวิชาการ วิจัย และสร้างนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก เทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ตามหลักการออกแบบที่เป็นสากล (Universal Design) เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างเท่าเทียมในสังคม
3. การพัฒนาการเรียนการสอนของคณะในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิต การพัฒนาศักยภาพ และการคุ้มครองสิทธิ์คนพิกา รให้ครอบคลุมประเด็นด้านคนพิการ ความพิการ หรืออื่นใด และส่งเสริมสภาพแวดล้อมสาธารณะ เทคโนโลยีที่เหมาะสม หรือบริการอื่น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
4. เป็นเจ้าภาพร่วมดำเนินการจัดสัมมนาทางวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ
5. ร่วมมือด้านอื่นๆ ที่พิจารณาว่าจำเป็นและเกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
บันทึกความร่วมมือทางวิชาการฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ 3 ปี ตั้งแต่วันที่ลงนามวันที่ 10 กันยายน 2560 ถึงวันที่ 10 กันยายน 2561 และสามารถขยายเวลาหรือปรับปรุงแก้ไขได้ตามเจตนารมณ์และความเห็นของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งจะได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้บันทึกความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าว ตามบทบาท ภารกิจ ความเชี่ยวชาญ และความสนใจ รวมถึงให้มีการติดตามประเมินผลการดำเนินงานภายใต้บันทึกความร่วมมือ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นระยะต่อไป